จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 616
มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ
ที่มาและความสำคัญ
ปัญหาเกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย” มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้อง ซึ่งในหลายกรณีมีการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายนายหน้าข้ามชาติในลักษณะเป็นขบวนการ ตั้งแต่ขั้นแรกที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ระหว่างที่แรงงานข้ามชาติพำนักอยู่และทำงานในประเทศ ไปจนถึงช่วงที่แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับหรือถูกผลักดันหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ถึงแม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติ และการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติภายใต้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 รวมถึงการเร่งรัดการนำเข้าแรงงานข้ามชาติตามระบบ MOU และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU ได้ทันตามความต้องการใช้แรงงานภายในประเทศ รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงในช่วงที่ผ่านมาได้รับผ่อนผันโดยมติคณะรัฐมนตรีให้อยู่ต่อและได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปได้ จึงปรากฏแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ พบว่า ในหลายกรณีปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือแสวงหาประโยชน์จากขบวนการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ ประกอบกับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2564 และประจำปี พ.ศ. 2565 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าการทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามในการต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์
โดยการทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้อง ในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือแสวงหาประโยชน์จากขบวนการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งภาพลักษณ์เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียก รับ หรือแสวงหาประโยชน์ ได้ออกไปสู่สายตาชาวโลกในรูปแบบของรายงานต่าง ๆ ที่ได้ทำการประเมินโดยองค์กร หรือหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP Report) รายงานโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งส่งผลในเรื่องความเชื่อมั่น และความโปร่งใสของประเทศ และอาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
ข้อเสนอแนะ
เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย
1. รัฐบาลต้องดำรงความมุ่งหมายของนโยบายที่ว่าแรงงานต่างชาติทุกคนต้องอยู่ในระบบ
ข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการ
1. กระทรวงแรงงาน
1.1. คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
- ควรกำหนดมาตรการและแนวทางในการนำแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบให้หมดโดยเร็ว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานายหน้าผิดกฎหมายและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน และเพื่อลดปัญหาหนี้สูญอันเกิดจากการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวที่มีสถานะผิดกฎหมาย
1.2. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
(1) ควรซักซ้อมแนวปฏิบัติตาม “คู่มือการวินิจฉัยความผิดฐานบังคับใช้แรงงานตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 (สำหรับเจ้าหน้าที่)” ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
(2) ควรประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและบริการ แก่นายจ้าง ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ตลอดจนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง
2. กระทรวงมหาดไทย
(1) ควรกำหนดมาตรการควบคุมการใช้บัตรผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพและป้องกันการเดินทางออกนอกพื้นที่อนุญาต เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงฯ ให้ชัดเจนว่าประชาชนจากประเทศต้นทางที่ต้องการถือบัตรผ่านแดนเข้ามาในเขตพื้นที่ชายแดนไทย ต้องมีภูมิลำเนาในพื้นที่ชายแดนเป็นระยะเวลานานเท่าใดจึงจะสามารถทำบัตรผ่านแดนเพื่อเข้ามายังพื้นที่ชายแดนไทยได้
(2) ควรเพิ่มมาตรการคัดกรองเบื้องต้นแก่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถือบัตรผ่านแดน โดยให้บุคคลเหล่านั้นแสดงเอกสารหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามวัตถุประสงค์ของความตกลงฯ แต่ละกรณี
(3) ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัด ควรกำหนดมาตรการในการกำกับ ควบคุม และกำชับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมบูรณาการการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบแสวงหาประโยชน์จากขบวนการเครือข่ายนายหน้าขนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย
(4) ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ ควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด สื่อมวลชน และภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันแจ้งข้อมูลแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง
(5) ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ควรกำหนดมาตรการในการคุ้มครองอย่างรัดกุมในทุก ๆ ด้านแก่ประชาชนในพื้นที่ผู้ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยการเก็บรักษาข้อมูลของบุคคลนั้นเป็นความลับ
3. หน่วยงานด้านความมั่นคง
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ต้องกำหนดมาตรการให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด และกำชับเจ้าหน้าที่มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเต็มกำลังความสามารถ หากพบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หย่อนยาน หรือปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้พิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลทุกกรณีอย่างเด็ดขาด ทั้งทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครอง แล้วแต่กรณี