Contrast
banner_default_2.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 156

09/01/2568

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(Environmental Impact Assessment : EIA) 

ที่มาและความสำคัญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีการจัดทำ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” สำหรับการดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและของเอกชน ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งผู้ดำเนินการจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการฯ
การดำเนินโครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตขึ้นได้ในหลายขั้นตอน โดยกรณีโครงการของเอกชนอาจมีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานซึ่งมีอำนาจอนุมัติ อนุญาต และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานฯ ส่วนโครงการที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว อาจมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ช่วยรับรองข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ หรือรายงานฯ ที่จัดทำขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง หรือเร่งรัดผลักดันให้รายงาน EIA หรือ EHIA ของโครงการ ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้โดยง่าย  นอกจากนี้ ในบางโครงการของหน่วยงานของรัฐ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดประเด็นการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และบริษัทที่ปรึกษาที่หน่วยงานว่าจ้างให้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าบางโครงการไม่ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส หรือไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง บางโครงการถูกคัดค้านจนต้องยุติโครงการไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการหยิบยกขึ้นมาศึกษาใหม่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการใหม่ โดยหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการเช่นนี้ไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมักปรากฏกรณีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง อันนำไปสู่การมีคำสั่งเพิกถอนรายงาน EIA และการอนุญาตก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในระหว่าดำเนินการ และที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายร้ายแรงต่อทุกฝ่ายซึ่งยากต่อการแก้ไขเยียวยาในภายหลัง

 

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment : EIA) คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)  เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1)   ด้านการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุมัติอนุญาตหรือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

      1.1)   เห็นควรให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ด้านการอนุมัติ/อนุญาต ด้านการกำกับดูแลพื้นที่/สถานที่ต่าง ๆ และหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาจัดทำ “ระบบศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุมัติ/อนุญาต และการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ” โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางระบบการประสานงาน และการตรวจสอบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน อาทิ การตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง การตรวจสอบข้อกำหนดตามกฎหมายสำหรับการดำเนินโครงการ/กิจการต่าง ๆ รวมถึงการกลั่นกรองโครงการ/กิจการ หรือการดำเนินการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) เพื่อให้การดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้อง รัดกุม ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการ หรือมีการอนุมัติ/อนุญาต ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาข้อผิดพลาด และเกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

      1.2)   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจอนุมัติ/อนุญาต ในการดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการ ได้แก่     
              (1) การปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีและฐานข้อมูลด้านการอนุมัติ อนุญาต ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับ “ศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Smart EIA Plus)” ของ สผ. รวมทั้งพัฒนาระบบให้บริการผู้ที่มาติดต่อขอรับการอนุมัติ/อนุญาต ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ มีความสะดวก รวดเร็ว และมีการตรวจสอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาต และ สผ.                     

             (2) การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ตลอดจนการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการเรียก-รับสินบนในขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาต เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
              (3) กำหนดให้ในการจัดทำแผนงานโครงการของหน่วยงานของรัฐต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ หากพบว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต และในขั้นตอนการจัดทำคำของบประมาณ
              (4) ร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการอาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA เช่น กรณีที่โครงการมีการกำหนดขนาดหรือกำลังการผลิตให้ต่ำกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย หรือแบ่งซอยโครงการขนาดใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กหลายโครงการ โดยควรเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการเสนอความเห็นหรือข้อสังเกตต่อ สผ. กรณีที่เห็นว่าโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีพฤติการณ์เลี่ยงกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ต้องกำหนดแนวทางในการวินิจฉัยที่ชัดเจน ซึ่งรวบรวมจากแนวคำพิพากษาของศาลและกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้โครงการเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ต่อไป

                    รวมทั้งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีโครงการที่ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA หลาย ๆ โครงการในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบสะสม โดยอาจเห็นควรให้นำแนวทางของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องทำ EIA แต่ก็ต้องดำเนินการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติและรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2565 มาผลักดันใช้ในโครงการหรือกิจการประเภทอื่น ๆ ด้วย


2)   ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพและการป้องกันการทุจริตในขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

      2.1)   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรกำหนดนโยบายมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่ การประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ในการจัดทำแผนการประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอาจเกิดการกระทำในลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การเรียก-รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของผู้ดำเนินโครงการและผู้จัดทำรายงานฯ การประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ และรณรงค์เรื่องการต่อต้านการทุจริตแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมทั้งจัดให้มีระบบการรับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้ สผ. และ ทสจ. รายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว ต่อกระทรวงฯ ทุกปี

       2.2)   สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรปรับปรุงแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยส่งเสริมบทบาทของตัวแทนองค์กรภาคเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ และสื่อมวลชน ในการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนการศึกษา และการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบและรับรองการทำงานของผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานฯ และป้องปรามมิให้มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องหรือขาดความโปร่งใส
ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำ “รายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (รายงาน EHIA)” เช่น การทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมถลุงแร่โลหะ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีการเผาหรือฝังกลบของเสียอันตราย ฯลฯ ไม่ควรจำกัดขอบเขตการศึกษาแค่เฉพาะบริเวณพื้นที่ในรัศมีรอบโครงการ โดยต้องกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบในเชิงคุณภาพซึ่งมีการรวบรวมความเห็นหรือข้อสังเกตของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบการจัดทำรายงานฯ ด้วย

       2.3)   คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยควรพิจารณาเพิ่มเติมบทลงโทษทางอาญาสำหรับกรณีผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของผู้จัดทำรายงานฯ และผู้ดำเนินโครงการ/กิจการ ในฐานะผู้ว่าจ้าง มีการจัดทำข้อมูลในรายงานฯ หรือรับรองรายงานฯ ซึ่งมีข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง ทั้งโทษปรับและจำคุก รวมทั้งการขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยอมรับในการประกอบวิชาชีพ (Black List) ตลอดจนกำหนดมาตรการหรือกลไกในการส่งเสริม จูงใจ หรือบังคับให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานมากขึ้น

      2.4)   รัฐบาล และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ควรพิจารณาให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐ และบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐว่าจ้าง ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และการจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชน ซึ่งดำเนินการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งประเด็นดังกล่าว อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ หากโครงการนั้น ๆ มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือส่วนรวมอย่างแท้จริง
โดยควรกำหนดให้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ หรือจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ซึ่งดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สามารถแสดงความคิดเห็น ให้ข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะ หรือคัดค้านโครงการ โดยต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นให้สาธารณชนทราบ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐ และเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาดำเนินการ หรืออาจเห็นควรยุติโครงการ

     
3)   ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ควรพิจารณาดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ ซึ่งได้แก่

      3.1)   จัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) ในทุกประเภทโครงการ/กิจการ ให้มีความชัดเจนและมีมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยี ซึ่งดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในลักษณะ Check list ตามกรอบประเด็นหัวข้อต่าง ๆ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจ และช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ คชก. ในการพิจารณารายงานฯ โดยเครื่องมือดังกล่าว ควรสามารถจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดของแต่ละโครงการ/กิจการ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้น ตลอดจนปัญหาข้อห่วงกังวลของประชาชนและชุมชน หรือประเด็นข้อร้องเรียนต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาให้ความเห็นของ คชก. มีความถูกต้อง ครบถ้วน

      3.2)   ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องกรอบระยะเวลาในการพิจารณารายงานฯ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกรณีที่ คชก. ไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ ในการพิจารณาครั้งแรก และให้ผู้ดำเนินโครงการไปแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรายงานฯ ใหม่ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรอบที่สอง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ คชก. ต้องพิจารณารายงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่รับรายงาน นั้น ทั้งนี้ กรณีที่มีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือส่งผลให้การพิจารณาขาดประสิทธิภาพ อาจสามารถขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไปได้ ตามแต่กรณี

      3.3)   ปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากการเผยแพร่เฉพาะรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก คชก. หรือการให้ความเห็นของ กก.วล. แล้ว ควรเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณะชนทราบในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา เช่น
              (1) ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานฯ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คชก. ในครั้งแรก
             (2) ความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของ คชก. กรณีที่ไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ และให้ผู้จัดทำรายงานฯ ไปดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำรายงานฯ ใหม่
             (3) ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานฯ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คชก. ในรอบที่สอง
             (4) ผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานฯ ของ คชก. และ กก.วล.
               ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีช่องทางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวก

      3.4)   กำหนดให้ผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ทุกประเภทโครงการ ทั้งกรณีโครงการของหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชน และโครงการของเอกชน ต้องจัดทำรายงานฯ ฉบับย่อ ซึ่งเป็นการสรุปข้อมูลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่โครงการฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบในด้านต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่โครงการกำหนดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาทำความเข้าใจ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้ง่ายขึ้น

      3.5)   เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล โดยก่อนที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานฯ แก่ผู้ดำเนินโครงการ/กิจการ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการ หรือขอรับการอนุญาตตามกฎหมาย หรือขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  ควรกำหนดให้มีขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้งในประเด็นที่เห็นว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง หรือไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสม หรือยังมีกรณีข้อพิพาทต่าง ๆ โดยสามารถอุทธรณ์มติของ คชก. หรือ กก.วล. ซึ่งให้ความเห็นชอบรายงาน EIA หรือ EHIA ของโครงการ/กิจการใด ๆ ได้
               โดย คชก. หรือ กก.วล. หน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ของโครงการ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งเหตุผลหรือคำชี้แจงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้อำนาจแก่ประชาชนตามกฎหมาย และป้องกันมิให้เกิดปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยาในภายหลัง รวมถึงประเด็นการทุจริต ตลอดจนสามารถใช้เป็นข้อมูลในกรณีที่มีการต่อสู้ในชั้นศาล

4)   ด้านการเสริมสร้างกลไกในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ

       4.1)   เห็นควรให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรเอกชนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ

       4.2)   เห็นควรให้ กก.วล. พิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมาย โดยควรเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน หน่วยงานของรัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสามารถแจ้งข้อมูล ความเห็น หรือข้อสังเกตต่อ สผ. ในกรณีที่เห็นว่ามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการใด ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
                โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจด้านการอนุมัติ/อนุญาต ด้านการกำกับดูแลพื้นที่ต่าง ๆ และหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ โดยอาจพิจารณาให้มีการระงับการดำเนินโครงการ/กิจการ ไว้จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงมาตรการฯ ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนหรือแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ เสนอคณะรัฐมนตรี ประกอบการพิจารณา โดยให้ ทส. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าว ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี หรือตามระยะเวลาที่เห็นสมควร

Related