จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 178
การประชุมสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 5 มกราคม 2567
ณ ห้องประชุมสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ อาคาร 6 ชั้น 2 สำนักงาน ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. สำนักงานมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ดำเนินการจัดประชุม ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ อาคาร 6 ชั้น 2 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีนางสาวลัดดา เดือนสว่าง ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม เป็นประธานในที่ประชุม และมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 20 คน เข้าร่วมประชุมดังกล่าว
โดยมีวาระการประชุม ดังนี้
วาระที่ 1 เรื่องที่แจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมมอบนโยบายการทำงานในปีงบประมาณ 2567
วาระที่ 2 เรื่องพิจารณารับรองรายงานประชุม
-ไม่มี
วาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อทราบ
3.1 การขับเคลื่อนมาตรการและข้อเสนอแนะตามมติคณะรัฐมนตรี
เพื่อเน้นการเผยแพร่มาตรการและข้อเสนอแนะตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งโครงการและกิจกรรมของสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ให้เจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องจัดทำ เผยแพร่ ข่าวประชาสัมพันธ์ และตอบข้อซักถามหรืออธิบายข้อสงสัยผ่านทางระบบ Q&A หรือ Facebook โดยมอบหมาย Admin ประจำกลุ่มดำเนินการ นำเสนอผู้อำนวยการสำนักฯ ก่อนดำเนินการเผยแพร่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นช่องทางในการส่งเสริมการขับเคลื่อนมาตรการ/ข้อเสนอแนะอีกทางหนึ่ง
3.2 การประเมิน ITA ส่วนราชการภายใน สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. จัดให้มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ภายในสำนักงาน แบ่งการประเมินเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด IIT โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐทุกระดับ ที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อคุณธรรม และความโปร่งใสของหน่วยงานตนเอง เป็นแบบวัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน มี 5 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
1. ตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ 2. ตัวชี้วัดการใช้งบประมาณ 3. ตัวชี้วัดการใช้อำนาจ 4. ตัวชี้วัดการใช้ทรัพย์สินของราชการ 5. ตัวชี้วัดการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมที่ปฏิบัติงานในสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จะต้องดำเนินการประเมินทุกคน และให้ประเมินตามความเป็นจริง
ส่วนที่ 2 : แบบวัดการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด EIT โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐ ได้มีโอกาสสะท้อนและ แสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐได้สะท้อนประสิทธิภาพภาครัฐ ทั้งนี้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ให้ฝ่ายบริหารรวบรวมข้อมูลของบุคคลภายนอก เช่น ผู้ที่มาเสนอการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการประเมิน และให้เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ไปจัดโครงการเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายในการลงพื้นที่ของสำนักฯ
ส่วนที่ 3 แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด OIT เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่เป็น Admin ทั้งนี้ในครั้งต่อไป ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ ในการทำข้อมูลเพื่อมาลงเว็บไซต์สำนักงาน เช่น แผนงานและแผนการดำเนินการต่าง ๆ ข่าวการทำกิจกรรม/โครงการ ที่สำนักฯ ดำเนินงาน เพื่อนำไปลงในเว็บไซต์สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และ Facebook สำนักงาน ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์งานของสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และให้เพจของสำนักงานมีความเคลื่อนไหว และได้รับการสนใจจากผู้ติดตาม มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ยังได้ชี้แจงและมอบนโยบายในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ การยืม ใช้ทรัพย์สินของทางราชการ และการจัดซื้อจัดจ้างในสำนักฯ ดังนี้
- การใช้งบประมาณของสำนัก กลุ่มบริหารงานทั่วไปจัดทำรายงานการใช้จ่ายงบประมาณเสนอผู้อำนวยการสำนักฯ ทุกเดือน และจะแจ้งเวียนให้เจ้าหน้าที่ทุกคนรับทราบ เพื่อวางแผนในการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้แผนงบประมาณ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการที่ได้กำหนดไว้ และเน้นย้ำให้ใช้งบประมาณให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และคุ้มค่า ไม่เอื้อประโยชน์ส่วนตน กลุ่มหรือพวกพ้อง และไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นเท็จ
- การยืมการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ให้ฝ่ายบริหารจัดทำขั้นตอนในการยืม เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อปฏิบัติให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน และหากเจ้าหน้าที่พบว่ามีสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมให้แจ้งมาที่ฝ่ายบริหารได้ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
- การจัดซื้อจัดจ้างภายในสำนักงาน ในการจัดซื้อจัดจ้างขอให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ระเบียบว่าด้วยจัดซื้อจัดจ้างและ
การบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
3.3 นโยบาย No Gift Policy และการรายงานการรับของขวัญและของกำนัล
ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ได้แจ้งให้บุคลากรภายในสำนักรายงานการรับของขวัญและของกำนัลตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการรับสินบน ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และรายงานให้สำนักงานทราบทุกครั้งที่มีการรับ
3.4 การประเมินองค์กรคุณธรรมของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม มอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรการและป้องกันการทุจริต 1, ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรการและป้องกันการทุจริต 2, หัวหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผลมาตรการ และกลุ่มงานบริหารงานทั่วไป เป็นผู้ดำเนินการเผยแพร่ประมวลจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้แก่บุคลากรทราบ และเน้นย้ำให้บุคลากรปฏิบัติตามจริยธรรมในการดำรงตนและในการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเคร่งครัด กำชับให้บุคลากรปฏิบัติตามพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามค่านิยมหลักของสำนักงาน ป.ป.ช.
ในส่วนการขับเคลื่อนสำนักงาน ป.ป.ช. สู่การเป็นองค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ตามแผนปฏิบัติราชการด้านการส่งเสริมคุณธรรมของสำนักงาน ป.ป.ช. (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐)
ได้กำหนดเป้าหมายและระดับการเป็นองค์กรคุณธรรมไว้ ดังนี้
- ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ - ๒๕๖๘ เป็นองค์กรคุณธรรมระดับ “พัฒนาคุณธรรม”
- ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๙ เป็นองค์กรคุณธรรมระดับ “คุณธรรมต้นแบบ”
- ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๗๐ เป็นองค์กรคุณธรรมระดับ “คุณธรรมต้นแบบโดดเด่น”
ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์การประเมินองค์กรคุณธรรมข้อ ๑ - ๖ ทุกข้อ จากทั้งหมด ๙ ข้อ และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าข้อละ ๒ คะแนน จากคะแนนเต็มข้อละ ๓ คะแนน รวมแล้วจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า ๑๔ คะแนน
จึงจะบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรคุณธรรมระดับที่ ๒ ระดับพัฒนาคุณธรรม
มติที่ประชุม รับทราบและให้ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการของผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมอย่างเคร่งครัดต่อไป
วาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณา
- กำหนดเป้าหมาย “ปัญหาที่อยากแก้” “ความดีที่อยากทำ” ตามแผนส่งเสริมคุณธรรมประจำปีงบประมาณ 2567 ของสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
ประธานฯ ให้ที่ประชุมร่วมกันกำหนดเป้าหมาย “ปัญหาที่อยากแก้” และ
“ความดีที่อยากทำ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ของสำนักฯ เพื่อใช้เป็นกรอบให้คณะทำงานจัดทำและขับเคลื่อนแผนส่งเสริมคุณธรรมของสำนักนักฯ นำไปจัดทำแผนส่งเสริมคุณธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ในการประเมินองค์กรคุณธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗
มติที่ประชุม ที่ประชุมได้มีมติกำหนดเป้าหมาย “ปัญหาที่อยากแก้” “ความดีที่อยากทำ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ของสำนักฯ ดังนี้
ปัญหาที่อยากแก้
- การดูแลรักษา การจัดเก็บวัสดุ อุปกรณ์สำนักงานซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวมที่ใช้ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
ความดีที่อยากทำ
๑. ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ใช้ทรัพยากรของราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากร
๒. การตั้งงบประมาณโครงการให้เหมะสม เน้นความคุ้มค่า และบรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจ
๓. ส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม
๔. ส่งเสริมการแยกแยะประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน
๕. ส่งเสริมให้บุคลากรมีความกตัญญูต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และองค์กร
วาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)
5.1 ผู้อำนวยการสำนักฯ ชี้แจงทำความเข้าใจ หลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ชี้แจงทำความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ในสำนักทราบว่าการประเมินผลการปฏิบัติงาน พิจารณาจากผลงานของแต่ละคนและการพิจารณามอบหมายงานให้ตรงกับตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ศึกษาดูงานหรือการให้ทุนการศึกษา โดยพิจารณาจากภาระงานในความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลในการประชุมประจำเดือน
มติที่ประชุม รับทราบ
5.2 ในการจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสำนัก เช่น จัดเลี้ยงปีใหม่ เลี้ยงส่งเจ้าหน้าที่ภายในสำนักกรณีโยกย้าย งานอื่น ๆ ได้กำหนดหลักการและแนวทางในการจัดเก็บเงินกองกลางเพื่อใช้ในกิจกรรมโดยให้จัดเก็บเป็นครั้ง ๆ ไป
มติที่ประชุม รับทราบ และเห็นชอบในหลักการ