ป.ป.ช. จัดเสวนา “e – Bidding ทางออกคอร์รัปชัน?”
ระดมความคิดเห็นภาคเอกชน หวังป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ด้วยกลไกสหยุทธ์ (The STRONG Together against Corruption (TaC Team) to enhance Corruption Perceptions Index : CPI) หัวข้อ : e-Bidding ทางออกคอร์รัปชัน? โดยมี นางสาวลัดดา เดือนสว่าง ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์กิจกรรม ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำการวิเคราะห์ผลการประเมินคะแนน CPI ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งในคราวประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยข้อเสนอแนะ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประเด็นที่ 1 นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต
ประเด็นที่ 2 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสินบน
ประเด็นที่ 3 การขัดกันแห่งผลประโยชน์
ประเด็นที่ 4 การตรวจสอบและการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ประเด็นที่ 5 ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ในงบประมาณและการจัดซื้อ
จัดจ้างภาครัฐ
โดยผลการดำเนินการตามประเด็นที่ 1 – 4 รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาต่อไป ได้มีการประชุมหารือร่วมกันแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ
และกิจกรรมวันนี้ เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นที่ 5 ความโปร่งใสและ
การตรวจสอบได้ในงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการ และการระดมความคิดเห็น ภายใต้ชื่อหัวข้อเดียวกัน คือ “e – Bidding ทางออกคอร์รัปชัน?” และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นผู้แทนจากภาคเอกชน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. มีความประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนจากภาคเอกชน ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
โดยข้อมูลจากเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตที่เข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีปัญหาในทุกขั้นตอน ทั้งในขั้นตอนการจัดทำแผนงานโครงการ การขออนุมัติโครงการ การคัดเลือกผู้รับจ้าง การบริหารสัญญา การตรวจรับงาน และการเบิกจ่ายงบประมาณ รูปแบบพฤติการณ์การทุจริตมีทั้งการเอื้อประโยชน์ การสมยอมราคา การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับสินบนจากผู้ประกอบการ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แค่ปีเดียว มีเรื่องกล่าวหาการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวนทั้งสิ้น 1,153 เรื่อง มีวงเงินงบประมาณของโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต ประมาณ 8,792,104,318 บาท
ดังนั้น วันนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาคเอกชน และที่รับชมการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Fan page: สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ในช่วงเช้าจะเป็นการเสวนาวิชาการ เพื่อรับทราบถึงข้อกฎหมาย มาตรการ และกลไกต่างๆ ที่ภาครัฐพยายามนำมาใช้ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
1. นายอดุล ขาวลออ กรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2. นางสาวทักษพร รักอยู่ นิติกรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานพัสดุ กรมบัญชีกลาง
3. นายณัฏฐภพ ตุลยกุลโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 สำนักงาน ป.ป.ช.
4. นายศักดิ์ชัย จันทร์แสงวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง สำนักงาน ป.ป.ช.
ส่วนในภาคบ่าย จะแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยสามารถสะท้อนมุมมองของภาคเอกชนที่มีต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
ได้เต็มที่