ตลอดระยะเวลา 25 ปี ของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งมั่นที่จะสร้างให้สังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริต ด้วยนโยบายเชิงรุก ทั้งการปราบปรามการทุจริต ควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดขึ้น โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่จะมุ่งมั่นสร้างสังคมไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริตอย่างต่อเนื่อง และจากความพยายามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าผลักดันเพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาหลายประการ อาทิ
(1) การเฝ้าระวังและส่งเสียง (Watch and Voice) คือการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการเฝ้าระวังและเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลที่เกี่ยวข้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบ เช่น กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชาชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่มีบทบาทอย่างมากที่ทำให้เสียงของภาคประชาชนเหล่านี้ดังจนกระทั่งเรื่องนั้น ๆ เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในที่สุด
(2) การให้ประชาชนทั่วประเทศ ร่วมด้วยช่วยกันเปิดโปงกรณีการทุจริตในพื้นที่จังหวัดหรือท้องถิ่นของตน ด้วยการร่วมแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ยกตัวอย่างกรณีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โครงการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง โครงการขุดลอกลำคลองหรือก่อสร้างถนน ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ป่าสงวน ป่าชายเลน หรือแม้กระทั่งชายหาด เป็นต้น
(3) การมีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน อาทิ การนำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตน หรือการนำรถยนต์ EV ส่วนบุคคลมาชาร์จไฟในพื้นที่ราชการ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้มุ่งเน้นในการปรับฐานความคิดด้านการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมให้ประสบผลสำเร็จโดยนำกรณีตัวอย่างที่ศาลได้มีคำพิพากษาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
(4) การร่วมกันตรวจสอบและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนเพื่อแลกกับสิทธิในการเข้าศึกษา การทุจริตนมโรงเรียน การฮั้วประมูลในโครงการต่าง ๆ หรือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้านวัตกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดให้มีกลไกการคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยานการจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่เข้ามาชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล หรือให้ข้อเท็จจริง กระทั่งนำไปสู่การพิพากษาดำเนินคดีและมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินจากการกระทำผิดนั้น ๆ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่าง ๆ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงของกระบวนการทำงานปราบปรามทุจริตนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจจะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจไม่เล็กน้อย และมีประเด็นของการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยยอมรับว่า การทำงานของหน่วยงานตรวจสอบยังมีปัญหา หากตัวกฎหมายเขียนไว้คลุมเครือ ก็จะเดินต่อลำบาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของข้อมูล ซึ่งอาจต้องนำมาวินิจฉัยเป็นรายบุคคลไป ยกตัวอย่าง เช่น การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ในกรณีนี้สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นประกาศเผยแพร่ ในส่วนของเป้าหมายที่กำลังผลักดันให้สำเร็จ คือ ดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในระบบสารสนเทศ ได้แก่ เปิดเผยเรื่องที่มีการไต่สวนไปแล้ว การแสดงข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาโดยรวม และผลการดำเนินการที่อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเผยแพร่ทางสารสนเทศ ในเบื้องต้นได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการตรวจสอบความแม่นยำของระบบ เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด และย้ำว่า ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้ในอนาคต
นอกจากปัญหาเผยแพร่ข้อมูลด้านการปราบปรามทุจริตแล้ว ป.ป.ช. ก็ให้ความสำคัญต่อพลังของประชาชน เพื่อเป็นอีกช่องทางสำหรับการตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญในการปราบปรามทุจริต “สิ่งที่สำคัญที่สุดในประเด็นเรื่องการทุจริต คือ การชี้ช่องเบาะแส การให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. เพราะเรื่องเกิดขึ้นจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ป.ป.ช. ไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้แม่นยำ ต้องเป็นคนในโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลจากผู้ก่อเรื่อง ผู้ถูกสั่งการ ผู้ถูกบังคับ หรือผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ โดยท่านสามารถแจ้งข้อมูลการทุจริตเข้ามาได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือท่านสามารถสอบถามข้อมูลขั้นตอนการแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสำนักงาน ป.ป.ช. 1205
ทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยความซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดั่งค่านิยมหลักขององค์กรที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การดำเนินงานจะต้องมุ่งเน้นให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยทุกภารกิจจะต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดคดีทุจริตในภาพรวม โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติทั้งการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริต ให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนและสังคม ควบคู่กับการรักษามาตรฐานการดำเนินงานและคำนึงถึงการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่
เป้าหมายการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทุกภารกิจมีการหารือและเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจัง มีการจัดทำแผนปฏิบัติการและกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ การบริหารจัดการภาระงานในทุกมิติจะต้องให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. มีการจัดตั้งกลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานที่ชัดเจนและต่อเนื่องในทุกภารกิจ อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. (NACC Operation Command Center) ที่มีการประชุมเพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ ทำให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และคณะอนุกรรมการของทุกภารกิจที่มีการกำกับติดตามการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายรวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานได้ทันต่อสถานการณ์
สำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงขับเคลื่อนนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยผลักดันการดำเนินงานป้องกันการทุจริตในทุกมิติตามมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 35 ตลอดจนหมวด 6 มาตรา 126 ถึงมาตรา 129 ในการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจัง รวมถึงการขับเคลื่อนศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC: Corruption Deterrence Center) เพื่อเฝ้าระวัง ระงับยับยั้ง ป้องกันและป้องปราม เพื่อลดการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในภารกิจด้านการป้องกันการทุจริตยังคงขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการดำเนินการประเมิน ITA ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการพัฒนาความร่วมมือในการประเมิน ITA กับหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรม ทั้งในส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประเมิน ITA สถานีตำรวจนครบาล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในการประเมิน ITA อำเภอ และการประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการประเมิน ITA ของสำนักงานเขต อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ภารกิจป้องกันการทุจริตยังคงขับเคลื่อนในเรื่องหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต และการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI: Corruption Perceptions Index) อย่างต่อเนื่อง
ด้านปราบปรามการทุจริต ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวนให้มีความเป็นระบบและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นการสะสางเรื่องกล่าวหาคงค้าง ควบคู่กับการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรับเรื่องกล่าวหาร้ายแรงไว้ดำเนินการ การบูรณาการความร่วมมือในการส่ง/มอบหมายเรื่องกล่าวหาที่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ ควบคู่กับการเตรียมการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในส่วนของการส่งเรื่องกล่าวหา และการกำกับติดตาม การดำเนินงาน ทั้งนี้ การดำเนินงานของภารกิจไต่สวนการทุจริตจะต้องมุ่งเน้นการทำงานที่รวดเร็ว ควบคู่กับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานในการจัดทำสำนวนไต่สวนและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินรวมทั้งการดำเนินการคดีร่ำรวยผิดปกติ เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเกรงกลัวและลดการกระทำความผิดทางทุจริตให้ลดลง นโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงคุณภาพ การจัดลำดับความสำคัญของภาระงาน การเคร่งครัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด การเตรียมความพร้อมในทุกมิติสำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับด้านการพัฒนาองค์กร ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดำเนินงานในทุกภารกิจ เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยการรวบรวมองค์ความรู้และจัดทำคู่มือการดำเนินงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้และระบบพี่สอนน้อง (Coaching) รวมทั้งการขับเคลื่อนค่านิยมหลักขององค์กร ป.ป.ช. “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทุกภารกิจเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐาน
ภาพ/ข่าว : สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช.
NO GIFT POLICY สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า "ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงานไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดทั้งในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงก่อนและหลังปฏิบัติหน้าที่ ที่จะส่งผลให้เกิดการทุจริตและปร...
สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ให้สาธารณชนทราบ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายพิเชษฐ์ สีตะวัน นายกเทศมนตรีตำบลแม่จั๊วะ (กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567...
เมื่อวานนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567) เวลา 08.30 น. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 โดยมี น...
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ ขอเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงาน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ไฟล์แนบด้านล่าง
ประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ เรื่อง สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างในรอบเดือน พฤศจิกายน 2567
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. กลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ ลงพื้นที่ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเข้าร่วมให้คำปรึกษาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ...
เมื่อวานนี้ (วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.00 น. นายศรัณ อภิสิทธิเวช ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจ...
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.30 - 15.30 น. ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นายศรัณ อภิสิทธิเวช ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการประชุมเชิงป...
เมื่อวานนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.00 น. กลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ เข้าร่วมรับฟังการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดแพร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายชุติเดช มีจั...
ประกาศสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดแพร่ เรื่อง สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างในรอบเดือน ตุลาคม 2567