Contrast
Font
df335f3e5f2dfcadc31a7346cc08d94b.jpg

ป.ป.ช. TaC Team ลงพื้นที่จังหวัดสตูล กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีถนนชลประทานชำรุดเสียหายเร็วกว่าที่ควรและมีการซ่อมแซมบ่อยครั้ง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 459

27/06/2565

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 นายธนกฤต เลิศวิริยวรางกูร  ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตกรณีถนนชลประทานฝายคลองท่าแพร ตำบลฉลุง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล  ชำรุดเสียหายและมีการซ่อมแซมบ่อยครั้ง

 

ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากการปักหมุดของ “ชมรม STRONG ต้านทุจริตภาคใต้” ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการก่อสร้างโครงการถนนฝายคลองท่าแพรของโครงการชลประทานสตูลชำรุดอย่างรวดเร็วทั้งที่เพิ่งจะสร้างแล้วเสร็จมาไม่นาน ซึ่งอาจเกิดจากผู้ประกอบการขุดดินลูกรังในพื้นที่นำรถบรรทุกดินวิ่งผ่านเส้นทางวันละหลายเที่ยว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการควบคุมดูแล ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน และสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมแซม

 

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น โครงการชลประทานสตูล ใช้งบประมาณ 9.2 ล้านบาท ปรับปรุงถนนสายคลอง 1L- 1L – LMC (ท่าแพร) ระยะทาง 2 กิโลเมตร ผิวถนนกว้าง 6 เมตร กำหนดน้ำหนักยานพาหนะใช้งานไม่เกิน 6 ตัน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการส่งน้ำของคลองส่งน้ำท่าแพร การซ่อมบำรุงคลอง และการสัญจรเพื่อขนส่งพืชผลทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ มีการตรวจรับงานจ้างไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 จากนั้นเกิดความชำรุดในระยะเวลา 3 เดือน (มิถุนายน 2564)  ซึ่งผู้รับจ้างดำเนินการซ่อมแซมแล้ว แต่ในปัจจุบันกลับเกิดความเสียหายขึ้นอีกโดยหน่วยงานได้แจ้งผู้รับจ้างทราบแล้วแต่ยังไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซม ทั้งนี้ระยะเวลาประกันผลงาน 2 ปี ของผู้รับจ้างจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2566

 

ผลการลงพื้นที่ TaC Team พบว่าถนนสายดังกล่าวมีความยาวรวม 10 กิโลเมตร นอกจากบริเวณที่ประชาชนแจ้งความชำรุดแล้วยังปรากฏความเสียหายจากการใช้งานตลอดระยะทางในลักษณะเช่นเดียวกัน ซึ่งพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบกิจการขุดดินลูกรังในตำบลบ้านควนซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลฉลุงหลายรายใช้รถบรรทุกดินขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 6 ตัน ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำแม้จะมีป้ายประกาศจำกัดน้ำหนัก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองท้องที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการที่มีการใช้ประโยชน์เส้นทางร่วมกับประชาชน เนื่องจากการตรวจสอบถนนสายอื่นในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานสตูลไม่พบความเสียหายในลักษณะนี้เนื่องจากไม่มีการใช้งานของรถบรรทุกดินในถนนสายอื่นๆ

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลได้มอบหมายให้พันเอก กฤศ ศรีเดชาสินธุ์ รอง ผอ.รมน.จังหวัดสตูล เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมกับ นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 นายธนกฤต เลิศวิริยวรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสตูล เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายสุรพงศ์  เจริญการยนต์  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสงขลา  รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการชลประทานสตูล นายสุจริต ยามาสา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง นายสิทธิวุฒิ ทรงสวัสดิ์ ผู้แทนอำเภอเมืองสตูล นายชัยยุทธ เขียวจันทร์ ผู้แทนสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 12 นายไมตรี สมณะ ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสตูล นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้แทนสำนักงาน ปปท. เขต 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสตูล

 

ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาเห็นว่า เส้นทางถนนฝายคลองท่าแพรเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวก ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นในเส้นทางสายหลักได้ จึงควรมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ดังนั้นจึงกำหนดข้อตกลงเพื่อถอนหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริต ดังนี้

  1. มาตรการระยะสั้น

1.1 มอบหมายให้โครงการชลประทานสตูล รับผิดชอบการซ่อมแซมเส้นทางให้ประชาชนใช้สัญจรได้ตามปกติ โดยเร่งรัดผู้รับจ้างให้เข้ามาดำเนินการโดยเร็ว กำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 31 กรกฎาคม 2565 ระหว่างนี้ให้ปิดประกาศห้ามรถบรรทุกเข้าใช้เส้นทางเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม และในจะซ่อมแซมให้ดำเนินการทีละช่องทางจราจรเพื่อลดผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่

1.2 มอบหมายให้อำเภอเมืองสตูลเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางหลวงชนบท ขนส่งจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และภาคประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบกิจการขุดดินลูกรัง มาหารือการใช้ประโยชน์เส้นทางร่วมกัน โดยเน้นย้ำให้เป็นไปอย่างละมุนละม่อม มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม อาทิ การร่วมกันกำหนดขนาดยานพาหนะที่ใช้เส้นทางและการจำกัดจำนวนเที่ยวต่อวันของการบรรทุกดินผ่านเส้นทางเพื่อรักษาอายุการใช้งานถนน เป็นต้น

โดยกำหนดเวลาทำความตกลงการใช้ประโยชน์เส้นทางให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับกำหนดเวลาซ่อมแซมถนนแล้วเสร็จและการเปิดให้ใช้เส้นทางได้ตามปกติ

ทั้งนี้ รอง ผอ.รมน.จังหวัดสตูลมอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสตูล เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการในลำดับต่อไปหากการหารือขั้นต้นไม่เป็นผล

1.3 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสตูล จะร่วมกับชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสตูล สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานเส้นทางและร่วมกันติดตามการแก้ไขปัญหาต่อไป

  1. มาตรการระยะยาว ให้โครงการชลประทานสตูลพิจารณาวางแผนเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนของชลประทาน ให้เหมาะสมกับการใช้งานและความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่

ทั้งนี้ เนื่องจากภารกิจหลักของกรมชลประทาน คือการดำเนินการที่เกี่ยวกับคลองส่งน้ำ ส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางตามแนวคลองส่งน้ำเป็นเพียงภารกิจรอง ดังนั้น ในระยะยาวจึงขอให้โครงการชลประทานสตูลพิจารณาความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจการบำรุงรักษาถนนสายดังกล่าวให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือทางหลวงชนบท  ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจรับการถ่ายโอนถนนมาอยู่ในความดูแลได้ โดยจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นข้อกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

 

ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อรายงานผลการจัดทำข้อตกลงลดความเสี่ยงต่อการทุจริตในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสตูล จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การการถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อก

Related