Contrast
Font
77d045eebf165972a33c92d0b728a4d6.png

ป.ป.ช. จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการต่อต้านการให้และรับสินบนของสหรัฐฯ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 19

18/12/2567

ป.ป.ช. จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการต่อต้านการให้และรับสินบนของสหรัฐฯ

 

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักกิจการและคดีทุจริตระหว่างประเทศ จัดการประชุมในหัวข้อ "กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการให้และรับสินบนของสหรัฐอเมริกา (US Anti-Bribery Laws: FCPA and FEPA)" ณ ห้องนนทบุรี 3 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี และผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมี นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมการประชุมกว่า 150 คน


โดยการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการต่อต้านการให้และรับสินบนของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในคดีทุจริตระหว่างประเทศ

ซึ่งช่วงแรก เป็นการบรรยายในหัวข้อ “กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA) และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ (Foreign Extortion Prevention Act: FEPA)” โดยมีวิทยากร คือ นายวรพงษ์ สุธานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบิร์กลีย์ รีเสิร์ช กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BRG ประเทศไทย บรรยายและแบ่งปันประสบการณ์ความรู้และตัวอย่างคดีทุจริตที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายเหล่านี้ ต่อมาเป็นการบรรยายในหัวข้อ “กระบวนการและขั้นตอนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในคดีทุจริตระหว่างประเทศ” โดยมีวิทยากร คือ นายกุลชัย ทองลงยา อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานต่างประเทศ มาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับบทบาทของอัยการ และการขอพยานหลักฐานจากต่างประเทศ


สำหรับการประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการให้และรับสินบน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ศ. 2566-2570) โดยเฉพาะในคดีทุจริตระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนและการโยกย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ การมีองค์ความรู้และความเข้าใจการใช้กฎหมายต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากสามารถนำมาพิจารณาปรับใช้กับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว ยังเป็นการพัฒนาความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับสากลต่อไป

Related