จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 464
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 พ.ต.ต. ชัชนพ ผดุงกาญจน์ ผู้ตรวจราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมด้วย นางสาวสุดใจ ไข่เสน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากการปักหมุดของเครือข่ายภาคประชาชน “คนสงขลา” แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ประกาศเป็นเขตโบราณสถานเขาแดงและการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่โบราณสถาน ทั้งการขุดดินในที่กรรมสิทธิ์ การลักลอบขุดดินผิดกฎหมาย การบุกรุกทำลายและปรับสภาพป่าบนเขาแดงเป็นทางเดินรถ รวมทั้งมีความเสี่ยงที่การบุกรุกดังกล่าวอาจเป็นความพยายามเข้าครอบครองเพื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินในอนาคต
การตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า บริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตอยู่ในเขตโบราณสถานตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2535 จำนวน 2,460 ไร่ ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้สำรวจพบการบุกรุกมากกว่า 15 จุด โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 4 จุด จากการลงพื้นที่ TaC Team จุดแจ้งความจุดที่ 1 บริเวณป้อมหมายเลข 9 เชิงเขาน้อย พบสภาพการบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในเขตโบราณสถานโดยผู้ประกอบกิจการขุดดินล่วงล้ำออกนอกเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ได้ขออนุญาต ทั้งนี้ หลังจากแจ้งความแล้ว สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ประสานเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร ให้ดำเนินการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่ม แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และผู้ประกอบกิจการยังคงขุดดินในบริเวณใกล้เคียง จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการบุกรุกเพิ่มได้เนื่องจากไม่มีหลักเขตที่แสดงการแบ่งที่ดินของเอกชนออกจากที่ดินของรัฐอย่างชัดเจน
การลงพื้นที่จุดแจ้งความจุดที่ 2 บริเวณเชิงเขาแดง พบการบุกรุกเขตโบราณสถานโดยใช้เครื่องจักรเข้าปรับไถพื้นที่ป่าจากเชิงเขาไปจนถึงยอดเขาเป็นทางเดินรถกว้างประมาณ 3 เมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณต้นทางขึ้นไปยังพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างสถานีเรดาร์ของกองทัพเรือ โดยสภาพการบุกรุกเป็นแนวยาวประชิดแนวพื้นที่กองทัพเรือระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ดำเนินโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อออกโฉนดให้กับประชาชนเพื่อให้มีที่ทำกินและยกระดับคุณภาพชีวิต แต่จากสภาพพื้นที่พบว่าผู้บุกรุกเข้าครอบครองส่วนใหญ่เป็นนายทุนผู้ประกอบกิจการขุดดิน จึงมีความเสี่ยงต่อการดำเนินการออกโฉนดให้เป็นไปอย่างโปร่งใส อีกทั้งการออกโฉนดทับซ้อนแนวเขตโบราณสถาน อาจส่งผลให้เกิดการฝ่าฝืนทำลายโบราณสถานอันเป็นสาธารณสมบัติของประเทศมากยิ่งขึ้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ นายจรัญ จันทรปาน ปลัดจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมกับ นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 และนางสาวสุดใจ ไข่เสน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา นายกริชชัย ภู่ฉุน นายอำเภอสิงหนคร นายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา พ.ต.อ. เสวี วุ่นหนู ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสิงหนคร นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้แทนสำนักงาน ปปท. เขต 9 พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ตลอดจนสมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสงขลา
ประชุมร่วมกันพิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานเขาแดงซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อองค์การสหประชาชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกและการกระทำผิดเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงกำหนดข้อตกลงเพื่อถอนหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริต ดังนี้
ให้สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ร่วมกับ อำเภอสิงหนคร และสถานีตำรวจภูธรสิงหนคร ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีและการเรียกร้องค่าเสียหายในจุดที่แจ้งความไปแล้วทั้ง 4 จุด รวมทั้งร่วมกันสืบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อผู้กระทำผิดในจุดอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่เขตโบราณสถานเขาแดงเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ การเฝ้าระวังด้วยกำลังคนเป็นไปได้ยาก จึงให้สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) พิจารณาใช้เครื่องมือเทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิด อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) หรืออุปกรณ์อื่น ๆ มาสนับสนุน การปฏิบัติงานทั้งการเฝ้าระวังและการบันทึกหลักฐานการกระทำผิดตามความเหมาะสม
2.1 ให้สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา และสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา แลกเปลี่ยนข้อมูลระวางเขตโบราณสถานและระวางเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลประชาชนและเอกชนทุกรายที่ครอบครองที่ดินในพื้นที่โบราณสถาน และให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการแจ้งผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกรายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบถึงหลักการปฏิบัติตามกฏหมายโบราณสถานที่กำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่โบราณสถานต้องได้รับอนุญาตจากสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ก่อนดำเนินการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินที่จะส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน
2.2 ให้สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาและสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) หารือร่วมกับอัยการหรือผู้พิพากษา เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการคืนสภาพเขตโบราณสถานและการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว โดยการปลูกป่าทดแทนหรือการปรับสภาพความชันที่เกิดจากการถูกขุดทำลาย เพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำและเป็นการบูรณะพื้นที่โบราณสถานให้สมบูรณ์ดังเดิมโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด
2.3 ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ ได้แก่ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา อำเภอสิงหนคร และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) สร้างช่องทางการแจ้งข้อมูลเบาะแสที่รวดเร็วและปลอดภัยเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องปรามและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลา และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต พร้อมเป็นสื่อกลางร่วมขยายผลส่งต่อข้อมูลไปยังประชาชนในวงกว้าง
2.4 ในระยะยาวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อสร้างทัศนคติที่ดี ให้เกิดความรักและหวงแหนในโบราณสถานซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะนำโบราณสถานเมืองเก่าสงขลาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยนายอำเภอสิงหนครจะนำร่องด้วยการจัดกิจกรรมบวชต้นไม้และห่มผ้าเจดีย์ในพื้นที่โบราณสถาน เพื่อสร้างกิจกรรมที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวได้
ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อรายงานผลการจัดทำข้อตกลงลดความเสี่ยงต่อการทุจริตในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การการถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จได้ในที่สุด