จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 270
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนายวัฒนชัย ส้มมี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 นายหิรัญ ไชยกันยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับนายวัลลภ ประวัติวงค์ ปลัดจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการจัดสรรพื้นที่ป่าไม้เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
--
ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากการปักหมุดของเครือข่ายภาคประชาชนชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสระแก้ว ว่าในพื้นที่อำเภอเขาฉกรรจ์และอำเภอวังน้ำเย็นเป็นพื้นที่ประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) แต่พื้นที่บางส่วนยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากบริษัทเอกชนที่เคยได้รับสัมปทานไม่คืนที่ดินให้กับรัฐหลังสิ้นสุด
สัมปทานตั้งแต่ปี 2532 นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในพื้นที่ที่ได้จัดสรร สปก. ไปแล้ว ว่าอาจมีบุคคลนอกพื้นที่ซึ่งไม่มีคุณสมบัติแต่เป็นตัวแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนให้ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก สปก. รวมทั้งอาจมีการบุกรุกเข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้ สปก. เพื่อหวังจะได้สิทธิ์เมื่อมีการจัดสรร สปก. ในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต
--
ข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า ที่ดินในจังหวัดสระแก้วกว่าร้อยละ 80 เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยพื้นที่ตามประเด็นความเสี่ยงคือ ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ และตำบลตาหลังใน ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น ได้ประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ พ.ศ. 2536 ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศเขต สปก. ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่กรมป่าไม้ต้องส่งมอบที่ดิน
ที่สามารถจัดสรรได้ให้แก่ สปก. เพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้มีคุณสมบัติ ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีทั้งแปลงที่ป่าไม้ส่งมอบให้แก่ สปก. ไปจัดสรรแล้ว และมีส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือเป็นพื้นที่ซึ่งติดภาระผูกพัน เช่น เป็นแปลงที่อนุญาตให้บริษัทเอกชนปลูกสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องหลังจากการยกเลิกสัมปทานป่าไม้เมื่อปี 2532
--
จากการลงพื้นที่ TaC Team โดยมีสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดสระแก้ว และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 ร่วมตรวจสอบแนวเขตที่ดินในบริเวณพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเคยให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน จำนวน 3 จุด
พบข้อเท็จจริง ดังนี้
จุดที่ 1 ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น เมื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินพื้นที่ดังกล่าวเป็นรอยต่อระหว่างแนวเขตปฏิรูปที่ดินกับเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (Zone C) ดังนั้น พื้นที่ป่าในบริเวณนี้จึงไม่สามารถนำไปจัดสรร สปก. ให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่จริงกลับพบว่ามีการบุกรุกเข้าทำประโยชน์โดยการทำแปลงปลูกต้นยูคาลิปตัสต่อเนื่องจากแนวจัดสรรของ สปก. โดยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าตลอดแนวเขตป่าอนุรักษ์
จุดที่ 2 ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ พบว่าเป็นพื้นที่จัดสรร สปก. โดยมีบางส่วนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเป็นไร่มันสำปะหลังและแปลงปลูกต้นยูคาลิปตัส ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีการขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการจัดสรรที่ สปก. เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าอาจเป็นบุคคลที่ถือครองแทนบริษัทเอกชนในลักษณะนอมินี รวมทั้ง ขอให้มีการเฝ้าระวังการจัดสรรที่ สปก. ในระยะต่อไปให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
จุดที่ 3 ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น ข้อมูลปรากฎว่าเมื่อมีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ
ในปี 2532 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนทำการปลูกสวนป่าประเภทไม้โตเร็วในพื้นที่เป็นระยะเวลา 30 ปี ระหว่างปี 2532-2562 เนื้อที่อนุญาตรวม 1,000 ไร่ ทั้งนี้ ในระหว่างระยะเวลาที่อนุญาตเอกชนรายดังกล่าว
ได้ใช้พื้นที่อนุญาตเป็นแปลงปลูกต้นยูคาลิปตัส จำนวน 475 ไร่ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในแปลงอนุญาตไม่ได้มีการใช้ประโยชน์โดยบริษัทแต่ปรากฎการเข้าทำประโยชน์โดยประชาชนรายย่อยในพื้นที่แทน จากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาอนุญาตและกรมป่าไม้ไม่มีนโยบายให้ต่อใบอนุญาตออกไปอีก บริษัทจึงได้ส่งมอบพื้นที่จำนวน 1,000 ไร่ ให้กับกรมป่าไม้ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้ตรวจรับมอบพื้นที่ซึ่งบริษัทได้ใช้ประโยชน์จำนวน 475 ไร่ เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วน
ที่มีการครอบครองโดยประชาชนรายย่อยยังไม่สามารถรับมอบพื้นที่คืนได้ ทั้งนี้ พื้นที่แปลงดังกล่าวแม้จะอยู่ในเขตประกาศ สปก. แต่จากการลงพื้นที่กรมป่าไม้แจ้งว่าได้กำหนดลักษณะของพื้นที่ไว้เป็นพื้นที่กันคืนเพื่อปลูกป่าทดแทน (Reforest) ดังนั้น แม้กรมป่าไม้จะได้รับมอบที่ดินคืนจากบริษัทเอกชนแล้วก็ไม่สามารถส่งมอบให้ สปก. เพื่อนำไปจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ ดังนั้น การที่ประชาชนเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว
จึงมิได้ก่อให้เกิดสิทธิ์อันจะนำไปสู่การจัดสรรที่ สปก. แต่อย่างใด
--
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายธีระชัย ลิ้มประสิทธิศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีการจัดสรรพื้นที่ป่าไม้
เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวังน้ำเย็น ร่วมกับ นายวัฒนชัย ส้มมี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 นายหิรัญ ไชยกันยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสระแก้ว พันจ่าอากาศเอก ไชยพัฒน์ วังศิลาบัตร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 2 นายณพพลวรรฒ โสมณวัตร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 นายนิธิสิทธิ์ รัตน์จันทโชติ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอวังน้ำเย็น และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้ว สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้ว คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสระแก้ว องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมหาเจริญ และองค์การบริหารส่วนตำบลตาหลังใน โดยที่ประชุมได้ร่วมกันสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าใช้ประโยชน์
ในพื้นที่ป่าไม้อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวังน้ำเย็น และกำหนดข้อตกลงร่วมที่หน่วยงานจะรับไปดำเนินการ ดังนี้
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2566 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี ยังมีแผนที่จะสำรวจพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบทั้งหมดที่มีการถือครองโดยประชาชนให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะรวมถึงพื้นที่ป่าตำบลตาหลังใน
อำเภอวังน้ำเย็น ซึ่งมีการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ด้วย ทั้งนี้ หากผลการพิจารณาของกรมป่าไม้กำหนดให้เป็นพื้นที่ที่สามารถจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนได้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี จะส่งเรื่องต่อให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกิน แต่หากพิจารณาแล้วไม่สามารถจัดเป็นที่ดินทำกินได้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี จะดำเนินการบังคับตามกฎหมายต่อไปอย่างเคร่งครัด
--
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ รวมทั้ง จะนำข้อมูลประเด็นปัญหาความเสี่ยงต่อ
การทุจริตทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดสระแก้วไปวิเคราะห์ร่วมกับสภาพปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อแสวงหาแนวทาง
การบริหารจัดการที่หรือการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตนี้ให้แล้วเสร็จในที่สุด