Contrast
Font
ea4e969c40be4dd997ff36484b8aebe1.jpg

TaC Team ป.ป.ช. ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในประเด็นความเสี่ยงการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประกอบกิจการเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุ พื้นที่อำเภอขลุง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 498

12/07/2565

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย นายจำเนียร  มูลสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจันทบุรี และสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการ ต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อประกอบกิจการเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุ พื้นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

--

ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดจันทบุรี แจ้งข้อมูลว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยนางรมขยายพื้นที่การเลี้ยงเพิ่มขึ้นจนกีดขวางการสัญจรทางเรือในแม่น้ำเวฬุ เป็นสาเหตุทำให้ลำน้ำตื้นเขิน ส่งผลต่อการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านอื่น ๆ  เกิดปัญหาการทิ้งขยะขวดพลาสติกที่เป็นอุปกรณ์เลี้ยงหอยกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ นอกจากนี้ ในแม่น้ำเวฬุ ยังปรากฎการใช้โพงพางดักสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายกีดขวางทางน้ำและเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานและยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข

จากการตรวจสอบข้อมูล พื้นที่ตามประเด็นความเสี่ยงข้างต้นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติในความดูแลของสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกวียนหัก ตำบลวันยาว ตำบลบางชัน ตำบลบ่อ อำเภอขลุง และตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ เดิมบริเวณแม่น้ำเวฬุมีการเลี้ยงหอยนางรมในลักษณะประมงพื้นบ้านมาเป็นเวลานานแล้วแต่มีจำนวนไม่มากนัก ต่อมาเมื่อตลาดมีความต้องการหอยนางรมสูงขึ้นจึงมีผู้เลี้ยงหอยนางรมเพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากคนนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตามแม่น้ำเวฬุอยู่นอกเขตพื้นที่อนุญาตตามประกาศคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดจันทบุรี พ.ศ. 2563 ถือเป็นพื้นที่ห้ามมิให้เพาะเลี้ยงหอยทะเลซึ่งเป็นกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม เนื่องจากแม่น้ำเวฬุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคณะกรรมการประมงจังหวัดจึงไม่สามารถอนุญาตได้หากไม่ได้รับการอนุญาตในเรื่องพื้นที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก่อน ในส่วนของการสัญจรทางน้ำในแม่น้ำเวฬุ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรีได้เคยให้ผู้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมาแสดงตนตามคำสั่ง คสช.ที่ 32/2560 แล้ว โดยอนุญาตให้เฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนแพไม้ไผ่เลี้ยงหอยนางรมไม่ถือเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ทางเจ้าท่าจะสามารถอนุญาตได้

--

จากการลงพื้นที่ TaC Team โดยมีสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรี และสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี ร่วมตรวจสอบแนวเขตการเลี้ยงหอยนางรมและสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

ในแม่น้ำเวฬุ พบข้อเท็จจริง ดังนี้

1.การเพาะเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุมีจำนวนมากตลอดแนวพื้นที่ป่าชายเลนแม่น้ำเวฬุ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่ได้มีการอนุญาตให้สามารถเลี้ยงหอยนางรม รูปแบบการเลี้ยงหอยนางรมใช้แพไม้ไผ่ซึ่งเริ่มจากริมขอบป่าชายเลนเข้ามาถึงแนวกลางลำน้ำ มีระยะห่างของแพและเส้นเชือกเลี้ยงหอยถี่เกินกว่ามาตรฐาน

ที่กรมประมงกำหนด จึงกีดขวางการไหลของน้ำและเกิดการชะลอตัวของตะกอนเป็นสาเหตุทำให้แม่น้ำตื้นเขิน

2.ปรากฏมีผู้เลี้ยงหอยนางรมจำนวนมากใช้ขวดพลาสติกเป็นอุปกรณ์เลี้ยงหอยนางรม ซึ่งในพื้นที่อื่นที่ประมงจังหวัดจันทบุรีอนุญาตให้มีการเพาะเลี้ยงหอยทะเลจะขอความร่วมมือไม่ให้ใช้ขวดพลาสติกเป็นวัสดุประกอบ

การเลี้ยงหอยนางรมในลักษณะเป็นทุ่นลอยผูกเป็นพวงอุบะแขวนลงไปในน้ำ เนื่องจากกีดขวางการทำประมงพื้นบ้านแบบอื่น ๆ รวมทั้งขวดพลาสติกดังกล่าวอาจเกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกส่งผลต่อสัตว์น้ำในพื้นที่และเมื่อหมดอายุการใช้งานจะกลายเป็นขยะจำนวนมากที่ผู้เลี้ยงหอยไม่รับผิดชอบนำออกไปทิ้งนอกพื้นที่ ส่งผลให้เกิดขยะตกค้างในเขตป่าชายเลนและเป็นภาระการกำจัดขยะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

3.พบการลักลอบใช้โพงพางซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายหลายจุดตลอดแนวลำน้ำ การปักหลักโพงพางล่วงล้ำเข้ามาถึงกลางลำน้ำและบางส่วนอยู่ใกล้กับร่องน้ำที่ใช้ในการเดินเรือ มีลักษณะกีดขวางการสัญจรและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้เรือได้

--

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายอลงกรณ์  แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประกอบกิจการเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุ พื้นที่อำเภอขลุง ร่วมกับ นายจำเนียร มูลสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจันทบุรี พันจ่าอากาศเอก ไชยพัฒน์ วังศิลาบัตร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 2 นายประจักษ์ธรรม โรจนะภิรมย์ เจ้าหน้าที่สอบสวนชำนาญการพิเศษ จากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายธีรัตม์

ธีระวุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน นายศุภกฤต สุขเนียม ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดจันทบุรี นายสุรศักดิ์ แจ้งจุล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรี

นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี นาวาเอก จเร โฉมเฉลา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดจันทบุรี และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี ศูนย์ป่าไม้จันทบุรี ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ เทศบาลตำบลเกวียนหัก เทศบาลตำบลวันยาว องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองชิ่ม โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาว่า แม้การเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุอาจเคยทำได้

ในอดีต แต่เมื่อปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นเขตป่าสงวนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงต้องรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุที่ประชุมจึงกำหนดข้อตกลงร่วมที่หน่วยงานจะรับไปดำเนินการ ดังนี้

1.การเสนอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะอนุญาตให้มีการเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุ ให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรี และสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหอยนางรมในปัจจุบัน รวมทั้งร่วมกันกำหนดพื้นที่และแนวเขตที่มีความเหมาะสม เสนอต่ออธิบดีกรมทรัพยากร

ทางทะเลและชายฝั่งเพื่อพิจารณาว่าจะสามารถอนุญาตให้เลี้ยงหอยนางรมในพื้นที่ได้หรือไม่ โดยในการดำเนินการให้ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดจันทบุรีเป็นเจ้าภาพ และให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดจันทบุรี ร่วมสังเกตการณ์การสำรวจพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ กำหนดดำเนินการสำรวจและจัดทำข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 และในโอกาสที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะตรวจเยี่ยมพื้นที่ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ให้ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนนำเรียนแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อทราบเบื้องต้นด้วย

2.การพิจารณาห้ามใช้ขวดพลาสติกเป็นอุปกรณ์เลี้ยงหอยนางรม ให้สำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรีนำเรื่องเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการประมงจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีกำหนดประชุมในช่วงสิงหาคม-กันยายน 2565 โดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรีสนับสนุนข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนสารพิษจากไมโครพลาสติกเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ เรื่องการกำจัดขยะพลาสติกในแม่น้ำ ให้ท้องถิ่นจังหวัดพิจารณาแนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการต่อผู้เลี้ยงหอยที่ทิ้งขยะพลาสติกในพื้นที่

3.การจัดการกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ แพไม้ไผ่และทุ่นขวดพลาสติกเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุที่กินพื้นที่ลำน้ำเกินหลักเกณฑ์ที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของความกว้างลำน้ำ ให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรีพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจทันที โดยนำกรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาคลองน้ำใสจังหวัดจันทบุรีมาปรับใช้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ลักลอบใช้โพงพาง

ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดจันทบุรี รับเป็นหน่วยงานเจ้าภาพดำเนินการ โดยจะเริ่มต้นนำร่องรื้อถอนในแม่น้ำเวฬุและขยายผลไปยังพื้นที่ลำน้ำอื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดจันทบุรีต่อไป

4.มอบหมายศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี อำเภอขลุง และอำเภอแหลมสิงห์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหอยนางรมในแม่น้ำเวฬุ ได้แก่ เทศบาลตำบลเกวียนหัก เทศบาลตำบลวันยาว องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองชิ่ม ดำเนินการจัดทำประชาคมเพื่อสำรวจและรับฟังความคิดเห็นต่อกรณีการเลี้ยงหอยนางรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นของประชาชน

ในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในกันยายน 2565 และให้รายงานผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งใช้ประกอบการเสนอรายงานต่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อพิจารณาการอนุญาตให้เลี้ยงหอยนางรมในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากการเลี้ยงหอยนางรมในพื้นที่แม่น้ำเวฬุถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งกรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ การล่วงล้ำลำน้ำ และการเพาะเลี้ยงหอยทะเลในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จึงสั่งการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรี และสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี ดำเนินการแจ้งผู้ประกอบการทุกรายทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขโดยทันที รวมทั้งให้แจ้งถึงแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐจะดำเนินการแก้ไขปัญหา

ในระยะยาวเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อไปด้วย

--

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ TaC Team จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด

Related