Contrast
Font
20f847b7efb97b222c6c340360a962c7.jpg

TaC Team ป.ป.ช. ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร (การบริหารจัดการกพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม)

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 270

18/08/2565

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนายพิเชฐ  พิมพา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ (การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม) ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

--

ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดกำแพงเพชร กรณีการบริหารจัดการและการป้องกันการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่มีราษฎรอยู่อาศัยก่อนประกาศเขตโบราณสถาน อีกทั้งแนวเขตพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์บางส่วนยังทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีส่วนราชการร่วมรับผิดชอบพื้นที่หลายหน่วยงานแต่ยังขาดการบูรณาการดูแลพื้นที่ร่วมกันเป็นเหตุให้มีแนวโน้มความเสี่ยงเกิดการบุกรุกพื้นที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

--

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร (ตำบลในเมืองและตำบลหนองปลิง) กรมศิลปากรได้ประกาศเขตโบราณสถานเมื่อปี 2511 ปัจจุบันมีพื้นที่โบราณสถานครอบคลุมเนื้อที่ 2,114 ไร่ แบ่งเป็นเขตคูเมืองกำแพงเมือง 503 ไร่ และเขตอรัญญิก 1,611 ไร่  มีพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระกา ที่ผ่านมาหน่วยงานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้จัดทำฐานข้อมูลอาคารที่ปลูกสร้างในพื้นที่อุทยานฯ มีจำนวนรวมจำนวน 328 หลัง ซึ่งในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถานตามกฎหมายโบราณสถานและกฎหมายควบคุมอาคาร กรมศิลปากรได้มีคำสั่งมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นผู้กระทำการแทนอธิบดีกรมศิลปากร มีคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเป็นกลไกให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนการพิจารณา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการ

--

การลงพื้นที่ TaC Team วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 มีหน่วยงานที่เข้าร่วมประกอบด้วย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กำแพงเพชร สำนักงานที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบข้อเท็จจริง ดังนี้

  1. พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เขตอรัญญิก อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองปลิง หมู่ 1 บ้านท่อทองแดง และหมู่ 6 บ้านบ่อสามแสน อุทยานประวัติศาสตร์ฯ ดำเนินการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ด้วยการจัดทำแนวรั้วล้อมรอบบริเวณที่พบโบราณสถานหรือหลักฐานทางโบราณคดี ส่วนพื้นที่บริเวณนอกแนวรั้วพบว่ามีราษฎรปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในลักษณะการเกษตร โดยอุทยานประวัติศาสตร์ฯ มีข้อมูลจากการสำรวจด้วยการเดินเท้าประกอบข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System - GIS) และการให้ข้อมูลด้วยความสมัครใจของราษฎร พบว่ามีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตอรัญญิก รวม 242 หลัง ในจำนวนนี้มีทั้งการปลูกสร้างในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์และที่ดินของรัฐ ซึ่งรวมถึงพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระกา ส่วนข้อมูลพื้นที่ทำประโยชน์ด้านการเกษตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลไว้ทั้งจำนวนแปลงและประเภทของการทำประโยชน์ อีกทั้งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าราษฎรซึ่งอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่มีลักษณะครอบครัวขยายเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลเป็นการบุกรุกทั้งพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์และป่าสงวนแห่งชาติ
  2. พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เขตคูเมืองกำแพงเมือง อยู่ในพื้นที่ตำบลในเมือง มีสิ่งปลูกสร้างของราษฎรในพื้นที่รวมจำนวน 86 หลัง ทั้งหมดอยู่ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และได้รับการอนุญาตตามกฎหมายโบราณสถาน โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ จะพิจารณาผู้ได้รับอนุญาตเฉพาะรายที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้นำหลักกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารมาใช้กับสิ่งปลูกสร้างที่ขออนุญาตในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ จึงทำให้มีอาคารบ้านเรือนบางหลังปลูกสร้างชิดติดกับแนวคูเมืองกำแพงเมืองโดยไม่มีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม
  3. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้จัดทำร่างระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พ.ศ. ... เสนอต่อกรมศิลปากรตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกฎหมายของกรมศิลปากร โดยร่างระเบียบดังกล่าวอ้างอิงรายละเอียดหลักเกณฑ์การยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารจากระเบียบกรมศิลปากรที่ประกาศใช้ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ให้ผู้ขออนุญาตที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสามารถนำหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งออกให้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่นั้น ๆ มายื่นขออนุญาตแทนได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเปิดช่องให้ราษฎรในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ หมู่ 6 บ้านบ่อสามแสน ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระกา สามารถยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารได้ด้วย
  4. พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถือเป็นพื้นที่ผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 ให้ราษฎรที่อยู่มาก่อนสามารถทำกินต่อไปได้ โดยต้องควบคุมการใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ไม่ให้ขยายขอบเขตเพิ่มเติมไปจากเดิม เนื่องจากอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้ยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระกาเพื่อวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการของอุทยานประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปจัดที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินให้แก่ประชาชน

--

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์(การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม) พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับ นายพิเชฐ  พิมพา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกำแพงเพชร นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย นายบัณฑิต  ทองอร่าม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร นายสามารถ  เมืองเงิน ธนารักษ์พื้นที่กำแพงเพชร นางสาวณธษา วงษ์จันทร์ เจ้าหน้าที่สอบสวนชำนาญการ ผู้แทนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอเมืองกำแพงเพชร องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร เทศบาลเมืองกำแพงเพชร และเทศบาลเมืองหนองปลิง โดยที่ประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมเพื่อเป็นแนวทางบริหารพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่หน่วยงานจะรับไปดำเนินการ ดังนี้

  1. มอบหมายให้อำเภอเมืองกำแพงเพชร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์ป่าไม้กำแพงเพชร ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ให้ชัดเจน ประกอบด้วย จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร ประเภทการทำประโยชน์ และประเภทของสิ่งปลูกสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในเขตคูเมืองกำแพงเมืองและเขตอรัญญิก โดยอาจพิจารณาดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 2,114 ไร่
  2. ในระหว่างที่กรมศิลปากรยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างระเบียบว่าด้วยการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พ.ศ. ... ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการอนุญาตพิจารณาการอนุญาตปลูกสร้างอาคารอย่างเคร่งครัด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกฎหมายโบราณสถานและกฎหมายควบคุมอาคาร โดยให้พิจารณาอนุญาตเฉพาะกรณีมีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเท่านั้น
  3. ให้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแก่ประชาชนในการยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต่ออุทยานประวัติศาสตร์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะ one stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และเพื่อควบคุมการพิจารณาอนุญาตให้ครบถ้วนตามกฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน โดยในส่วนของการจะเปิดช่องให้ใช้หนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินแทนเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองประกอบการยื่นขออนุญาต ให้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรศึกษาแนวทางการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโอกาสให้เกิดการบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากร่างระเบียบว่าด้วยการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พ.ศ. ... ได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ในช่วงก่อนการประกาศใช้ให้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เตรียมแผนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการยื่นขออนุญาตและพิจารณาอนุญาตเพื่อป้องกันความสับสนและเตรียมความพร้อมให้ประชาชนสามารถดำเนินการขออนุญาตได้อย่างถูกต้อง

  1. กรมศิลปากรกำหนดนโยบายให้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่เขตอรัญญิก หมู่ 1 และหมู่ 6 ตำบลหนองปลิง ซึ่งเป็นพื้นที่สำรวจไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วให้มีความชัดเจน เพื่อเสนอกรมศิลปากรพิจารณาปรับปรุงขอบเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจะกันพื้นที่บางส่วนให้พ้นสภาพจากการเป็นโบราณสถานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ต่อไป

--

สำนักงาน ป.ป.ช. จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงร่วมภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ฯ ในพื้นที่ภาค 6 (จังหวัดกำแพงเพชร) เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะนำกรณีการบริหารจัดการประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเขตโบราณสถานและพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดกำแพงเพชร ไปศึกษาเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ เพื่อพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริตที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด

Related