Contrast
Font
f8cbd153e1f4c85256f8ee344a7f7a82.jpg

ป.ป.ช.เผยคดีตัวอย่าง เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ พร้อมย้ำ “ดุลยพินิจต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3833

11/04/2566

ป.ป.ช.เผยคดีตัวอย่าง เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ พร้อมย้ำ “ดุลยพินิจต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ”

          สำนักงาน ป.ป.ช. เผยคดีที่เป็นกรณีศึกษาการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสร้างความตระหนัก และเตือนใจเจ้าหน้าที่ให้ยึดหลักความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบ และตระหนักอยู่เสมอว่าการใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายที่กำหนด ตลอดจนต้องคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย

         นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสม ระมัดระวังไม่ใช้เกินขอบเขตของระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่จะมีความผิดตามกฎหมาย ดังเช่นกรณีคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด กรณีอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างโครงการก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ ทั้งที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และไม่มีการตรวจรับงานจ้าง ซึ่งเป็นคดีเกิดขึ้นในองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ที่มีการทำสัญญาจ้างกับบริษัทผู้รับจ้างเพื่อก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ ราคาค่าจ้าง 498,500 บาท โดยมีกำหนดส่งมอบงานจ้างภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของ ซึ่งการเบิกจ่ายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าช่างผู้ควบคุมงานได้รายงานผลการก่อสร้างว่าได้ดำเนินการไปได้เพียงร้อยละ 70 ของปริมาณงานทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ ได้ร่วมกันลงนามสั่งจ่ายเช็คให้แก่บริษัทผู้รับจ้าง ทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง และยังไม่ส่งมอบงานจ้าง อีกทั้งยังไม่มีการตรวจรับงานจ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบฎีกาเบิกเงิน ก็ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ยับยั้งการเบิกจ่ายแต่กลับลงลายมือชื่อเพื่อให้เช็คมีผลสมบูรณ์ตามเงื่อนไขที่องค์การบริหารส่วนตำบลทำข้อตกลงให้ไว้กับทางธนาคาร

          จากกรณีดังกล่าว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงพิเคราะห์เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาเงิน จัดการและเบิกถอนเงินฝากธนาคาร กลับอาศัยโอกาสที่มีอำนาจและหน้าที่และได้รับความไว้วางใจร่วมกันกระทำความผิดเสียเอง อันแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ลักษณะการกระทำความผิดกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนี้จึงเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดและเคยประกอบคุณงามความดีต่อสังคมมาก่อนเป็นเพียงเหตุผลส่วนตัว ยังไม่เพียงพอที่จะเห็นสมควรรอการลงโทษ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพความผิด ทั้งมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก จึงพิพากษาให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี

          กรณีเหล่านี้ จึงถือว่าเป็นอุทาหรณ์ที่จะคอยย้ำเตือนเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้ดุลยพินิจให้ปฏิบัติตนด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้งบประมาณที่ใช้สำหรับการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติม และศึกษาคดีทุจริตอุทาหรณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงาน หรือเพื่อใช้เป็นแนวทางที่จะระมัดระวังป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในการทำงาน ได้ที่ วารสารสำนักงาน ป.ป.ช. “สุจริต” ปีที่ 23 ฉบับที่ 83 ประจำเดือนตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566 คลิ้กอ่านได้แล้ววันนี้ https://www.nacc.go.th/ebookdetail/2023033014205954?

Related