จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 2468
ป.ป.ช.ยกเคส “โครงการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟกินรี” ความเสี่ยงทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เผย เสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรมไม่มีบัญชีมาตรฐาน ง่ายต่อการตั้งราคาที่สูงเกินความเป็นจริง เกิดช่องโหว่เอื้อประโยชน์ระหว่างบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐ พบหลายพื้นที่ถูกตรวจสอบ แนะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากประเด็นข่าวกรณีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบโซลาร์เซลล์ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ วงเงินงบประมาณ 871,020,971 บาท ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. ก็ยังพบกรณีคล้ายคลึงกันอีกในหลายพื้นที่ อาทิ กรณีพบเสาไฟกินรี โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งคลองพระสทึง อ.เมือง จ.สระแก้ว หรือจะเป็นโครงการเสาไฟฟ้ากินรีของเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 6 สำนักงานอัยการสูงสุด
จะเห็นได้ว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างการดำเนินโครงการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงแม้ว่าจะได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ อาทิ ไม่มีการจัดทำประชาคม หรือจัดทำประชาคมที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดจนหลายกรณีพบว่าผู้บริหารใน อบต. เป็นผู้มีอำนาจบารมีในพื้นที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่กล้าตรวจสอบความโปร่งใส รวมถึงพบข้อสังเกตว่า มีการกำหนดราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรมไม่มีบัญชีมาตรฐาน และบางกรณียังพบการจัดทำ TOR มีการกำหนดคุณสมบัติที่เป็นการกีดกันรายอื่นโดยอ้างอิงคุณสมบัติจากผู้ขายรายที่ได้เจรจาตกลงกัน จึงกล่าวได้ว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้างการดำเนินโครงการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงในการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการบริหารโครงการที่มีความโปร่งใส แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะเร่งด่วน หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ ตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และกรมบัญชีกลางควรเร่งดำเนินการกำหนดราคากลางสำหรับการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรม ซึ่งควรมีการทบทวนรายชื่อสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย สำหรับข้อเสนอแนะระยะยาวควรมีการส่งเสริมกระบวนการประชาคมท้องถิ่น (Public Hearing) ให้มีความโปร่งใสและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง และควรมีการพิจารณาทบทวนอำนาจหน้าที่และคุณสมบัติของผู้ลงสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นและสามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินงานของผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสภาท้องถิ่นอย่างแท้จริง รวมทั้งในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ต้องผ่านระบบ e-bidding โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติที่ถูกต้อง และมีราคาต่ำสุด และไม่ให้มีแนวคิดในการติดตั้งและก่อสร้างเสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรม แต่จะมุ่งเน้นใช้ไฟฟ้าส่องสว่างจากพลังแสงอาทิตย์ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ไม่ได้ต้องการความสวยงาม แต่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ให้มีความปลอดภัย เพื่อให้เงินงบประมาณเข้าถึงการพัฒนาท้องถิ่นและประชาชนอย่างแท้จริง