จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3858
ทำไม? ต้องมีเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ
หลายท่านคงอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องห้ามพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวนเป็นเงินได้? สาเหตุที่ต้องมีข้อห้ามก็เป็นเพราะว่าหากพนักงานของรัฐรับของขวัญหรือของกำนัลจากผู้ที่มาติดต่อราชการแล้ว อาจทำให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น อาจใช้ดุลยพินิจเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้ของขวัญ จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าการกระทำเช่นใดที่เป็นเรื่องต้องห้าม และแบบใดเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ และถ้าหากเจ้าพนักงานของรัฐคนใดไม่ปฏิบัติตามก็ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ตามประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง “หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563” นอกจากนี้ ก็ยังมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการรับของขวัญหรือของกำนัลของเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ลดความเสี่ยงในการทุจริตรับสินบน และประพฤติมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
สำหรับหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 มีคำนิยามต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
“การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา” หมายความว่า การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบุคคลที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ และให้หมายความรวมถึงการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ในโอกาสการแสดงความยินดี การแสดง
ความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคมด้วย
“ญาติ” หมายความว่า พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดามารดาเดียวกัน ลุง ป้า น้า อา คู่สมรส ผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส บุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรม
“ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
ในส่วนของหลักเกณฑ์การรับและการห้ามรับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องทราบและถือปฏิบัติ คือ
ห้ามรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้นอกเหนือจากการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ส่วนที่รับได้ คือ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท และทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
กรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐคนใดมีความจำเป็นต้องรับทรัพย์สินฯ ไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่าบุคคล ต้องดำเนินการ ดังนี้
และหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คงถึงเวลาแล้วที่ต้องปลูกฝังความคิด รู้จักแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนร่วม และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีความละอาย ไม่ให้ไม่รับของขวัญ ของกำนัล ในโอกาสต่าง ๆ ตามปกติประเพณีนิยม แต่ใช้เป็นบัตรอวยพรแทน และให้ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมค่านิยมผ่านนโยบาย NO GIFT POLICY งดรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่
.................................................................................
อ้างอิง : หนังสือคดีสินบนกับการรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช.
“ ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ”