Contrast
Font
517f4fffda4222f1fecb0d257f4269b7.jpg

ลักลอบขุดดิน คอร์รัปชันร้าย ป้องกันได้ด้วยมาตรการ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 934

31/07/2567

     ปัจจุบันเราจะพบข่าวปรากฏเกี่ยวกับการขุดดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายกรณี อาทิ การลักลอบขุดหน้าดินขายในพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช และข่าวในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีการลักลอบขุดหน้าดินโดยไม่ได้แจ้งขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือใบอนุญาตหมดอายุซึ่งกระทบต่อรายได้จากค่าธรรมเนียมที่รัฐควรได้มีการขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการเกินกว่าที่ขออนุญาต หรือจำนวนแรงม้าของเครื่องยนต์ไม่ได้เป็นไปตามขนาดที่ขออนุญาต ส่งผลทำให้พื้นที่ที่ดินบริเวณข้างเคียงเกิดการทรุดตัวและพังทลายได้รับความเสียหายและมีการบรรทุกดินน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบำรุง รวมถึงการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้พิจารณาการให้ใบอนุญาตขุดดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เข้าไปตรวจสอบควบคุมการประกอบกิจการขุดดินให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับสำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตสำหรับ ขุด ตัก ลอก หรือดูดทรายหรือดินที่มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน

     ซึ่งแน่นอนว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว และเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ต่อคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 โดยมีสาระสำคัญของมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินแ ละถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในหลายประเด็น ได้แก่
     1. การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมายกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน
          1.1 ควรปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน เพื่อให้การควบคุมดูแลการขุดดินและถมดินมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการทุจริตได้มากยิ่งขึ้นโดยในกฎหมายดังกล่าวให้กำหนดถึงแนวทางในการขนย้ายดินหลังจากที่มีการขุดดินและถมดินด้วย
          1.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติอนุญาตในการขุดดินและถมดินทำความตกลง เพื่อลดขั้นตอนในการขออนุมัติ อนุญาต ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติอนุญาต มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ร่วมกันพิจารณาออกกฎระเบียบการใช้หน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตเป็นกฎระเบียบร่วมพร้อมทั้งให้นำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การอนุมัติ อนุญาต การออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต
          1.3 ควรร่วมกันจัดทำแผนที่แสดงเขตพื้นที่ที่สามารถขออนุญาตขุดดินและถมดินได้ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS เพื่อป้องกันมิให้เกิดการให้ใบอนุญาตในพื้นที่ห้ามขุดดิน
          1.4 ควรมีการวิเคราะห์ว่าในแต่ละสภาพพื้นที่สามารถขุดดินและถมดินได้หรือไม่รวมถึงผลกระทบจากการขุดดินและถมดิน และแนวทางในการฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม
     2. การแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตรการแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทรายและการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลงและจัดทำคู่มือในการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตดูดทรายและการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด
     3.การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดินการบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลตามภารกิจหน้าที่และอำนาจ
          3.1ต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินและควรมีการสร้างระบบของการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่กระทำถูกต้องตามกฎหมายและมีระบบป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำความผิด
          3.2 ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้อย่างเพียงพอ มีการกำหนดระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
          3.3 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการขุดดินและถมดิน
     4. ปัญหาการขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ความดูแลของตนเองสร้างกลไกในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องสร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งข้อมูลโดยจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมซึ่งอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์และรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วย และต้องมีกลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน
     5. ปัญหาในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การลักลอบขุดดิน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน การขุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัย การบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดทำให้ถนนเกิดความชำรุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบำรุงเส้นทาง การแก้ไขปัญหาในข้อนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดมาตรการใน การเฝ้าระวังเป็นรายกรณี

    ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาการลักลอบขุดดิน จะเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งจากผู้มีอิทธิพล กระบวนการเกี่ยวข้องในการอนุมัติอนุญาต สิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาการทุจริต คือการร่วมมือจากทุกภาคส่วน จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้มีการเสนอมาตรการมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดิน และถมดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมายข้างต้นไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป  

Related