Contrast
Font
f3d114f78c2a03bbcfcdaa0f522e15d0.jpg

ป.ป.ช. พลักดันมาตรการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน อปท. มุ่งลดช่องโหว่ทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 763

07/08/2567

ป.ป.ช. พลักดันมาตรการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน อปท. มุ่งลดช่องโหว่ทุจริต

         ป.ป.ช. ชูมาตรการป้องกันการทุจริต เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนที่รัฐฯจัดสรรให้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรเงินงบประมาณ ภายใต้หลัก โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจ นำมาสู่การพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษา ปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่ อปท. โดยพบว่า ปัญหาการทุจริตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่เกิดจากการกระทำทุจริตในหลายขั้นตอน ทั้งในด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีด้านการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 รับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าวและมีมติให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยสาระสำคัญที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการในด้านการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนมีดังนี้

(1) รัฐบาลควรมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการส่งเสริมและพัฒนารายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการทุจริตจากการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน โดยมีกฎหมายกำหนดแหล่งรายได้และวิธีการหารายได้ การจัดระบบภาษี หรือการจัดแบ่งภาษีระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อให้ อปท.มีรายได้เพียงพอ สามารถดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ลดการพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้น้อยที่สุดจนกระทั่งหมดไปในอนาคต

(2) รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยลดการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริตจากการวิ่งเต้นและการบริหารงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเป็นการจัดสรรงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดทำโครงการเพื่อทำคำขอรับการพิจารณาจัดสรรตามนโยบายและเงื่อนไขที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการทุจริต

(3) คณะกรรมการที่มีส่วนร่วมพิจารณาการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และตัวชี้วัดอย่างชัดเจน เพื่อลดอำนาจการใช้ดุลพินิจ (Discretionary Power) ในการจัดสรรโดยมิชอบ

(4) สำนักงบประมาณ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรเร่งดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่ขอรับเงินงบประมาณโดยตรง เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และให้ใช้บังคับตั้งแต่คำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปใชให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมในทุกกระบวนการจัดสรรงบประมาณ ลดการใช้ดุลยพินิจและการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับงบประมาณอุดหนุน และลดปัญหาการเกิดทุจริต ตลอดจนส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ทำให้งบประมาณทั้งหมดนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

Related