จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1001
ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ สร้างความโปร่งใสในระบบราชการไทย
ในปี พ.ศ. 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สำคัญในการสร้าง ความโปร่งใสในระบบราชการไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐต้องแสดงความรับผิดชอบ ต่อสาธารณะและลดโอกาสในการทุจริต โดยประกาศนี้กำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐตามมาตรา 102 และ 103 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งรวมถึงตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจและดำเนินการในกิจกรรมของรัฐ
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผู้ยื่นบัญชีต้องทำการยื่นภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ต้องยื่นภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง โดยผู้ยื่นสามารถเลือกวิธีการแสดงรายการทรัพย์สินโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือนำเอกสารมายื่นด้วยตนเองหรือผู้แทน
ที่สำนักงาน ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบด้านการตรวจสอบและการป้องกันการทุจริต
ทั้งนี้ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผู้ยื่นบัญชีต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยจะต้องแสดงรายการในวันที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง หรือทุกสามปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วแต่ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 105 วรรคสาม (1) หรือ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ คู่สมรสของผู้ยื่นยังหมายความรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย
ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาที่สำคัญเพื่อให้การให้มีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งประกอบด้วย:
- ชื่อ - ชื่อสกุล (เฉพาะบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
- อายุ (เฉพาะบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
- ที่อยู่ สถานศึกษา และที่ทำงาน (เฉพาะบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
นอกจากนั้นประกาศฉบับที่ 2 ยังได้มีการเพิ่มเติมในข้อ 6 โดยเฉพาะในวรรคสี่ ที่ระบุว่า: “ห้ามมิให้บุคคลใดนำข้อมูลตามวรรคหนึ่งไปเผยแพร่ ดังนี้:
1. เพื่อวัตถุประสงค์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย
2. เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า การโฆษณา นอกเหนือไปจากการนำเสนอข่าวสารเพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะเป็นการทั่วไป หรือใช้เพื่อการสร้างหรือทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคลใด
3. เพื่อนำไปใช้ในการเชิญชวนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ที่เป็นเงินเพื่อกิจกรรมทางการเมือง เพื่อการกุศล หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด”
การกำหนดข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เจ้าพนักงานของรัฐและครอบครัวมีความมั่นใจในการเปิดเผยข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐตามประกาศของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2567 เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในระบบราชการไทย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การดำเนินการตามหลักเกณฑ์นี้จึงเป็นสิ่ง ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม