จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 186
ป.ป.ช. ขอนแก่น เฝ้าระวังการทุจริต โครงการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เฝ้าระวังทุจริต ลงพื้นที่ติดตามโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ มุ่งป้องกันการรุกล้ำที่สาธารณะและที่ดินเอกชน และกำชับเจ้าหน้าที่รัฐจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ ย้ำ ยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนโดยไม่เหมาะสม
นายธีรัตน์ บางเพ็ชร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่นได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ รวมถึงการเฝ้าระวังเหตุที่เกี่ยวข้องอันเกิดจากการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ในการใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย
โดยลงพื้นที่ โครงการชลประทานขอนแก่น จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ 1.แก้มลิงหนองแปน พร้อมอาคารประกอบ ตำบลหนองแปน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ปริมาตรดินขุดตามสัญญา 252,000 ลูกบาศก์เมตร วงเงินงบประมาณโครงการ 14,100,000 บาท วงเงินตามสัญญา 9,118,448 บาท 2.แก้มลิงกุดลอบ พร้อมอาคารประกอบ ตำบลโพธิ์ไชย อำเภอโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ปริมาตรดินขุดตามสัญญา 322,000 ลูกบาศก์เมตร วงเงินงบประมาณโครงการ 23,5900,000 บาท วงเงินตามสัญญา 10,145,940 บาท 3.ขุดลอกอ่างเก็บน้ำดำเนินการเอง อ่างเก็บน้ำกุดจับ-กุดหมากเห็บ โครงการชลประทานขอนแก่น ปริมาตรดินขุดตามสัญญา 200,000 ลูกบาศก์เมตร ตำบลโนนสะอาด อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น วงเงินงบประมาณโครงการ 6,490,000 บาท
ทั้งนี้ การเฝ้าระวังการทุจริตในโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ เป็นไปตามข้อสั่งการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากพบว่ามีกรณีการทุจริตและการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องจากการขุดลอกแหล่งน้ำ เช่นมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง ลักลอบนำดินที่ขุดลอกออกไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากที่กำหนด บางครั้ง หน่วยงานกลับขุดลอกโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนเจ้าของที่ดินให้มีพื้นที่ครอบครองเพิ่มนอกเหนือไปจากแนวเขตที่ถูกต้อง การตรวจสอบการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะนี้นับเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันเฝ้าระวังปัญหาความเสี่ยงการทุจริตในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกรอบวงเงินงบประมาณ ตลอดจนยังเป็นการสร้างความตระหนักให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ดำเนินโครงการโดยยึดหลัก โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปิดช่องโหว่พฤติการณ์ที่จะเข้าไปมีส่วนเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลให้มีความผิดตามกฎหมายได้