Contrast
Font
2518f6c9fd952b750acb868a66d9a0fb.jpg

ทำความรู้จักกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กองทุน ป.ป.ช.

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 497

23/09/2567

                   ในระยะเวลา 3 - 4 ปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเคยเห็นรายการโทรทัศน์ ได้รับฟังรายการวิทยุ ได้รับสารผ่านสื่อออนไลน์ และสื่อโฆษณาต่าง ๆ ที่เผยแพร่ผลงานโดยมีเครดิตข้างท้ายผลงานระบุว่าได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ป.ป.ช. (กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ซึ่งหลายท่านอาจจะอยากทราบถึงความเป็นมาของกองทุน ป.ป.ช. วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกองทุน ป.ป.ช. กัน

                   การจัดตั้ง กองทุน ป.ป.ช. จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา162 หมวด 10 กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 162 - มาตรา 166) เพื่อเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยมีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยบริหารงานกองทุน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช.)

                   วัตถุประสงค์ กองทุน ป.ป.ช. มีระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เป็นกรอบในการบริหารงาน โดยการใช้จ่ายเงินของกองทุน ป.ป.ช. จะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ตามมาตรา 162 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสนับสนุน ภาคเอกชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือรณรงค์ในการป้องกันการทุจริต และเป็นค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทนตามมาตรา 131 และเงินรางวัลตามมาตรา 137 ใช้จ่ายในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 41 และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

                   อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. ในการดำเนินการกองทุน ป.ป.ช. จะต้องมีคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. กำหนดนโยบาย กำกับดูแล ติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ป.ป.ช.
  2. กำกับ ควบคุม และบริหารกองทุน ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2562
  3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการกองทุน ป.ป.ช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
  4. พิจารณาให้ความเห็นชอบคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกองทุน ป.ป.ช.                  
  1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปี และแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีเพิ่มเติมระหว่างปีของกองทุน ป.ป.ช.
  2. พิจารณาและอนุมัติโครงการ/กิจกรรม งบประมาณและอนุมัติค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ป.ป.ช.
  3. พิจารณารายงานผลการดำเนินงานประจำปี การรายงานการเงินของกองทุน ป.ป.ช. ในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว
  4. เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน ป.ป.ช.
  5. เสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคล เพื่อช่วยเหลือหรือพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควร
  6. ปฏิบัติงานอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ป.ป.ช.

                   กองทุน ป.ป.ช. มีกำหนดเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ภายในเวลา 16.30 น. ผู้ประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนเงิน จากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สามารถดาวน์โหลดรายละเอียด ได้ทางเว็บไซต์กองทุน ป.ป.ช. https://www.nacc.go.th/NACCFund หัวข้อ ข่าวประชาสัมพันธ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (หน่วยงานบริหารกองทุน ป.ป.ช.) สำนักงาน ป.ป.ช. โทรศัพท์หมายเลข 0 2528 4800 ต่อ 4933 ในวันและเวลาราชการ

Related