จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 366
สินบน กับเอกชนที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า
“ใครอยากได้โครงการ น่าจะต้องจ่ายสินบน เพื่อให้ได้อภิสิทธิ์ในการทำโครงการนั้นมา งานที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ได้ทำอยู่แล้ว ต้องเลิกการอนุมัติ อนุญาตการขึ้นทะเบียนที่ไม่จำเป็น ถ้าไม่มีทะเบียน ไม่ต้องมีการขออนุญาต สินบนก็จะไม่เกิด”
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า
“สินบน” คือ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคล เพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบหรือมิชอบด้านหน้าที่
ซึ่งคำว่า “สินบน” ติดหูติดปากในสังคมไทยมานาน เช่น ในสมัยก่อนเรียกว่า ค่าน้ำร้อนน้ำชา เงินส่วน เงินใต้โต๊ะ และถ้าเรียกให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะใช้คำว่า ค่าอำนวยความสะดวก ค่าบริการ ค่าดำเนินการ เป็นต้น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ความเห็นในประเด็น “สินบน” ว่า คือเงินที่เอกชนจ่ายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อหวัง 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 การอำนวยความสะดวก และเรื่องที่เอกชนและประชาชนมีสิทธิ์อยู่แล้ว แต่ภาครัฐไม่อำนวยความสะดวกเท่าที่ควร เช่น ดำเนินการล่าช้า ซึ่งประชาชนอยากจะดำเนินการให้เร็ว และประเภทที่ 2 คือ สินบนที่เอกชน ประชาชนจ่ายให้กับรัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชนธุรกิจขนาดใหญ่ หวังที่จะเอาเปรียบคู่แข่งในตลาด เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ ซึ่ง ดร.สมเกียรติฯ ได้อธิบายต่อไปว่า สินบนทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวนั้นไม่เหมือนกัน โดยประเภทแรก คือประชาชนมีสิทธิ์อยู่แล้ว คือ ประชาชนต้องได้รับบริการจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว และไม่มีปัญหา แต่หลาย ๆ บริการนั้นมีปัญหา เพราะฉะนั้นต้องหล่อลื่น ต้องอำนวยความสะดวก เรียกว่า ค่าน้ำร้อนน้ำชา และประเภทที่ 2 เป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งรายใดที่อยากได้สิทธิประโยชน์อยากได้อภิสิทธิ์เหนือรายอื่น ต้องการชนะการแข่งขันก็ต้องจ่ายสินบน เพื่อให้ภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองได้เปรียบคู่แข่ง
รูปแบบของสินบน เป็นแบบไหนบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสินบน
เกิดจากการที่หน่วยงานภาครัฐให้บริการประชาชนล่าช้า เช่น การขึ้นทะเบียน การขออนุญาตต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิ์อยู่แล้ว เช่น การเปิดร้านอาหาร การขอรังวัดที่ดิน เป็นต้น เพราะหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการ การให้บริการก็ไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนหรือไม่เหมาะสม หรือชัดเจนแต่ไม่เหมาะสม เช่นบางเรื่องไม่ควรต้องขออนุญาต แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาต ซึ่งเป็นช่องว่างเกิดโอกาสการให้สินบน หรือสินบนที่มีไว้เพื่อได้เปรียบคู่แข่งทางการค้า ทำให้ชนะการแข่งขัน เช่น มีการจ่ายใต้โต๊ะ การฮั้วประมูล การล็อคเสปค การได้รับสัมปทาน โดยมีการวิ่งเต้นทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
จากปัจจัยเสี่ยงการเกิดสินบนที่กล่าวมานั้น ดร.สมเกียรติฯ ให้ความเห็นเพิ่มอีกว่า สินบนเกิดขึ้นเพราะหน่วยงานภาครัฐให้อำนาจผูกขาด ซึ่งมีส่วนเกินทางเศรษฐกิจ คือ “ใครอยากได้โครงการ น่าจะต้องจ่ายสินบน เพื่อให้ได้อภิสิทธิ์ในการทำโครงการนั้นมา”
แนวทางการแก้ปัญหาสินบน
ดร.สมเกียรติฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการแก้ปัญหาสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน ประชาชน คือ งานที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ได้ทำอยู่แล้ว ต้องเลิกการอนุมัติ อนุญาตการขึ้นทะเบียนที่ไม่จำเป็น และงานใดที่ต้องขออนุญาตแล้วภาครัฐดำเนินการล่าช้า เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการปรับปรุงกลไกของการอนุมัติ อนุญาต คือดำเนินการตามกฎหมายอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการให้บริการประชาชน หากได้มีการปรับปรุงดังที่กล่าวมา จะทำให้สินบนลดลงไปมาก และสินบนที่ให้ไปเพื่อเอาเปรียบการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจผูกขาดได้สัมปทาน เช่น สัมปทานการจ่ายไฟฟ้า ให้การไฟฟ้ามาซื้อไฟจากพลังงานทางเลือกของบริษัทเอกชน ถ้าไม่มีการเปิดเสรีสาขาพลังงานอย่างแท้จริงโดยให้รายใดดำเนินก็ได้ จะกลายเป็นว่าคนที่ได้สิทธิ์ดำเนินการก็ได้ทำ คนนั้นก็ได้ผลประโยชน์เยอะ แต่ถ้าเปิดเสรีสาขาบริการจริง ความจำเป็นต้องไปจ่ายสินบนก็จะหายไป เพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องต้องพิจารณาที่สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน
ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการการให้บริการต่าง ๆ ให้กับเอกชนและประชาชนอย่างถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายอำนวยความสะดวกของภาครัฐ สินบนจะไม่เกิดขึ้น ความเสียหายก็จะไม่เกิดกับประเทศชาติ และหากทุกฝ่ายมีสำนึกที่ดี รู้ผิด รู้ชอบ อย่างที่ว่า สินบน ถ้าไม่มีผู้ให้ ก็ไม่มีผู้รับ