จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 94
แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ประกาศคะแนนประเมินระดับระบบนิติธรรม (Rule of Law) ประจำปี 2567 โดยภาพรวมของคะแนนรวมและการจัดอันดับ ประเทศไทยได้ค่าคะแนน 0.50 คะแนน จากเต็ม 1.00 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 78 จาก 142 ประเทศ ทั่วโลก (ดีขึ้นกว่าในปี 2566 ซึ่งได้ 0.49 คะแนน อยู่อันดับที่ 82) สำหรับคะแนนด้านการปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) ซึ่งเป็นด้านที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำมาจัดทำเป็นคะแนนดัชนีชี้วัดการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) แหล่งข้อมูล WJP ประเทศไทยได้ค่าคะแนน 0.46 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 70 ดีขึ้นกว่าในปี 2566 ซึ่งได้ 0.45 คะแนน อันดับที่ 72 ถือได้ว่าประเทศไทยมึภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในแหล่งข้อมูลดังกล่าวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งผลดีต่อการประเมินคะแนน CPI ประจำปี 2567 ในภาพรวมของประเทศไทย
สำหรับแหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) เป็นดัชนีชี้วัดที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) มีการคิดระดับคะแนนอยู่ระหว่าง 0-1 โดยมี World Justice Project (WJP) หรือ โครงการความยุติธรรมโลก ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี และเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้จัดการประเมิน โดยแหล่งข้อมูล WJP ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แหล่งข้อมูล ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำมารวบรวมและจัดทำดัชนีชี้วัดการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย โดยมีเกณฑ์การวัด ประกอบด้วย 8 เกณฑ์ ได้แก่ (1) ขีดจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) (2) ปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) (3) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) (4) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) (5) ความสงบเรียบร้อยของสังคม (Order and Security) (6) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) (7) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และ (8) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)
นอกจากนี้ดัชนีนิติธรรม (World Justice Project (WJP)) ทั้ง 8 เกณฑ์ ยังเป็นตัวขี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (๒๒) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อีกด้วย
โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะนำค่าคะแนนของแหล่งข้อมูล WJP เฉพาะเกณฑ์ที่ 2 คือ ปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) ซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับขอบเขตของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยคำถามเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล รวมไปถึงระบบสาธารณสุข หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตำรวจ และศาล ซึ่งคำถามแต่ละข้อ ประกอบด้วย 4 ดัชนีย่อย ได้แก่
1) ข้าราชการ (เจ้าหน้าที่) ในสายบริหาร ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (Government officials in the executive branch do not use public office for private gain)
2) ข้าราชการ (เจ้าหน้าที่) ในสายตุลาการ ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (Government officials in the executive branch do not use public office for private gain)
3) ข้าราชการ (เจ้าหน้าที่) ในสายตำรวจและทหาร ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (Government officials in the executive branch do not use public office for private gain)
4) ข้าราชการ (เจ้าหน้าที่) ในสภานิติบัญญัติ ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (Government officials in the executive branch do not use public office for private gain)
แม้ว่าในปี 2567 ประเทศไทยจะมีค่าคะแนน CPI ในแหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP)nที่สูงขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งจะต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง สำหรับผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2567 คาดว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะประกาศผลในช่วงปลายเดือนมกราคม 2568