Contrast
Font
9a1f4649ee4b5e176d18cc9230195645.png

“การขัดกันแห่งผลประโยชน์” กับ “จริยธรรม” และ “การทุจริต”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 119

20/02/2568

          การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นปัญหาทางจริยธรรมและเกี่ยวข้องกับค่านิยมของคนในสังคม โดยหลักการพื้นฐานของการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นเรื่องของศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจที่กำกับดูแลกิจการงานต่าง ๆ เพื่อส่วนรวมสมควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นหากผู้มีหน้าที่และอำนาจทั้งหลายตระหนัก ให้ความสำคัญ และปฏิบัติตนให้สอดคล้องถูกต้องตามคุณธรรม จริยธรรม ย่อมไม่มีปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์       มีความสัมพันธ์กับการทุจริตในแง่ที่ว่าการทุจริตทุกกรณีเป็น ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่มีเพียงผลประโยชน์ทับซ้อนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่กลายเป็นการทุจริต เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนอาจเป็นเพียงเงื่อนไขหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตขึ้น อาจกล่าวได้ว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ จัดเป็นกลุ่มทุจริตสีเทา (Gray area corruption)

               ทั้งนี้อาจแยกความสัมพันธ์ระหว่าง “การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม”  “จริยธรรม” และ“การทุจริต” ให้เห็นชัดเจนได้ดังนี้  

               “จริยธรรม” (Ethics) เป็นกรอบใหญ่ทางสังคมที่เป็นพื้นฐานของแนวคิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม และการทุจริต การกระทำใดที่ผิดต่อกฎหมายการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมและการทุจริต ย่อมเป็นความผิดต่อจริยธรรมด้วย แต่ตรงกันข้าม การกระทำใดที่ฝ่าฝืนจริยธรรมอาจไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมและการทุจริต เช่น การมีพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่เหมาะสม การมีพฤติกรรมชู้สาว เป็นต้น

               “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” (Conflict of Interest) เป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใด ๆ ตามอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่กลับเข้าไปมีส่วนได้เสียกับกิจกรรม หรือการดำเนินการ ที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง ทำให้การใช้อำนาจหน้าที่เป็นไปโดยไม่สุจริตก่อให้เกิดผลเสีย ต่อภาครัฐ

               “การทุจริต” (Corruption) เป็นพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยตรง ถือเป็นความผิดอย่างชัดเจน สังคมส่วนใหญ่จะมีการบัญญัติกฎหมายออกมารองรับ มีบทลงโทษชัดเจน ถือเป็นความผิดขั้นรุนแรงที่สุด ที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ปฏิบัติ

                สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.nacc.go.th/coi  > ข่าวประชาสัมพันธ์ > แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ กลไกป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ  

                                       

Related