Contrast
Font
955d21a1e41796f714474d2e5f96c601.jpg

ป.ป.ช. ผสานพลังต่อต้านสินบน (TaB)

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 479

27/03/2568

ป.ป.ช. ผสานพลังต่อต้านสินบน (TaB)

การให้และรับสินบนเป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ฝังลึกอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งการทุจริตในลักษณะนี้ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่มีหลากหลายประเภท หากพิจารณาจากความเต็มใจของผู้ให้และผู้รับ สามารถแบ่งออกเป็นสามรูปแบบหลัก ได้แก่

          สินบนแบบถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับ เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางมิชอบ บังคับให้ประชาชนหรือภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับบริการหรือสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมาย

          สินบนที่เสนอให้ยังเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบการหรือประชาชนเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษหรือเลี่ยงกระบวนการที่ยุ่งยาก

          สินบนแบบสมผลประโยชน์ เป็นกรณีที่ทั้งผู้ให้และผู้รับสินบนได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การสมยอมกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกัน

          ทั้งสามรูปแบบนี้มีระดับความท้าทายที่แตกต่างกันในการออกแบบมาตรการป้องกันและจับกุม เพื่อให้สามารถต่อต้านการทุจริตได้อย่างเป็นระบบ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดตั้ง โครงการผสานพลังต่อต้านสินบน (TaB: Together against Bribery) ขึ้น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การสืบสวน และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โครงการนี้ เริ่มดำเนินการเป็นปีแรก โดยมีการ Kick Off อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568

          โครงการผสานพลังต่อต้านสินบน (TaB: Together against Bribery) ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อต้านสินบนในประเทศไทย โดยเน้นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและครอบคลุมทุกมิติ กลยุทธ์ของโครงการประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่

          1) การดำเนินการเยี่ยมชมแบบทางการ หรือ Site Visit คือ การลงไปเยี่ยมชมการปฏิบัติการของหน่วยงานเป้าหมายแบบเป็นทางการถึงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการทุจริตที่มี ว่ามีการดำเนินการอย่างไร

          2) การประเมินตามสภาพจริง หรือ Authentic Assessment คือ การไปดูตามสภาพจริง ด้วยวิธีการต่าง ๆ แบบไม่นัดหมายล่วงหน้า ว่ามีการดำเนินการตามนั้นหรือไม่

          3) การดำเนินการยุทธวิธีพิเศษ ในกรณีที่พบเบาะแส บุคคล พฤติการณ์ ทรัพย์สิน หรืออื่น ๆ ที่ส่อไปในทางทุจริตหรือมีการรับสินบน ก็จะมีทีมงานสืบสวนลงไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมตามยุทธวิธี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง   ก็จะนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีต่อไป

          ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ ก็จะเป็นการผสานพลังอย่างแท้จริง เป็นระบบ ระหว่างงานป้องกันการทุจริต ซึ่งเป็นการดู    ในเชิงระบบงาน อุดช่องว่างการทุจริต การสืบสวนปราบปรามการทุจริต ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเมื่อพบพฤติการณ์ ที่บ่งชัดเพียงพอว่ามีการทุจริตที่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดี และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น เครือข่าย STRONG หรือภาคประชาชนทั่วไป ที่จะร่วมสอดส่อง ให้เบาะแส การทุจริตภายใต้โครงการนี้

          เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมใหญ่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อเตรียมความพร้อม วิเคราะห์ และคัดเลือกประเด็นในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดพลัง โดยวิเคราะห์ทั้งจากภาพรวมใหญ่ในระดับประเทศ คือ การประเมิน CPI (Corruption Perception Index) มาตรการป้องกันการทุจริต ที่มีการบังคับใช้ทั่วประเทศ รวมไปถึงภาพในระดับพื้นที่ ซึ่งจะมีความท้าทายที่แตกต่างกัน นำไปสู่ 3 เรื่องที่จะมีการดำเนินการในปีนี้ ได้แก่

1) สินบนที่เกี่ยวกับชายแดนและการค้า-การลงทุนระหว่างประเทศ

สินบนประเภทนี้หมายถึง การให้หรือรับผลประโยชน์ในบริบทของการค้าชายแดน การลงทุนระหว่างประเทศ หรือการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งรัดกระบวนการ หลีกเลี่ยงภาษี หรือข้ามข้อกำหนดทางกฎหมาย เช่น การตรวจสอบศุลกากรและภาษีสินค้า 

สินบนในบริบทนี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการขนส่งสินค้าปริมาณมาก เช่น ด่านศุลกากรในจังหวัดชายแดน การดำเนินการมักเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลัก เช่น กรมศุลกากร กรมขนส่งทางบก และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกมักจ่ายสินบนเพื่อให้เจ้าหน้าที่มองข้ามข้อกำหนด เช่น ภาษี หรือมาตรฐานสินค้าที่ต้องตรวจสอบ  เป็นต้น

กรณีการลักลอบนำเข้าน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านในภาคใต้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด กลุ่มน้ำมันเถื่อนใช้สินบนจ่ายให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อเพิกเฉยต่อการตรวจสอบสินค้า นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียนสด ซึ่งต้องการการจัดการภายในระยะเวลาที่จำกัด ยังพบว่าผู้ประกอบการบางรายใช้สินบนเพื่อเร่งกระบวนการตรวจปล่อยสินค้า 

2) สินบนในกระบวนการออกใบอนุมัติอนุญาต

สินบนประเภทนี้หมายถึง การให้หรือรับผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกใบอนุญาตหรือการอนุมัติ ในกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ เช่น การก่อสร้าง การเปิดกิจการ หรือการทำประมง เป็นปัญหาที่ฝังลึก ในระบบราชการของไทย เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวมักมีขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลานาน เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจดุลยพินิจสูงในกระบวนการเหล่านี้มักเรียกรับสินบนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการอนุมัติที่รวดเร็ว

ตัวอย่างที่พบ เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างในเขตเมือง ที่ผู้ประกอบการมักถูกเรียกรับสินบนเพื่อเร่งรัดขั้นตอน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การออกใบอนุญาตประมงในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ยังพบปัญหาการจ่ายสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดด้านอุปกรณ์ตรวจสอบ เป็นต้น

3) สินบนลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่

สินบนประเภทนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมและตามรูปแบบ การบริหารหรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในพื้นที่ เช่น พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเทศกาล เป็นต้น สินบนในพื้นที่เฉพาะมักเกี่ยวข้องกับความต้องการเฉพาะของพื้นที่ เช่น การจ่ายสินบน เพื่อได้พื้นที่ค้าขายที่ทำเลดีในงานเทศกาล หรือการอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายในพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจ่ายสินบนในงานกาชาดในพื้นที่ชนบท ผู้ประกอบการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ เพื่อได้พื้นที่ค้าขายที่มีทำเลดี หรือกรณีการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวน เจ้าหน้าที่บางรายเพิกเฉยต่อการกระทำผิดเพื่อแลกกับสินบน

          โครงการผสานพลังต่อต้านสินบน (TaB: Together against Bribery)  เป็นก้าวสำคัญในการต่อต้านสินบนอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ โดยใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นทั้งการป้องกัน การสืบสวน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป้าหมายของโครงการคือการทำให้การให้และรับสินบนลดลง และสร้างความโปร่งใสในสังคมไทย การดำเนินงานในปีแรกมุ่งเน้นไปที่สินบน 3 ประเภทหลัก ได้แก่ สินบนในภาคการค้าและชายแดน สินบนในกระบวนการออกใบอนุญาต และสินบนที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

          ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โครงการ TaB มีศักยภาพที่จะเป็นต้นแบบในการต่อต้านการทุจริตที่สามารถขยายผลไปยังระดับที่กว้างขึ้น และช่วยลดปัญหาการให้และรับสินบนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

อ้างอิง : บทสัมภาษณ์ นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง Kick Off ต้านสินบนครบวงจร ป้องกัน สืบส่อง จับกุม ในรายการ บันทึกสถานการณ์ ออกอากาศ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568

Related