จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1582
ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) เป็นดัชนีที่ดำเนินการประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International: TI ทีเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และประเทศไทยกเป็น 1 ใน 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมินจัดอันดับดัชนีการรับรู้ทุจริต ซึ่งเป็นตัวสะท้อนภาพลักษณ์ความโปร่งใสภายในประเทศ แต่ที่ผ่านมาพบว่า คะแนนของไทยยังอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร โดยในปี พ.ศ. 2565 ได้คะแนน CPI 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก แม้จะดีขึ้นจากปี 2564 แต่ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในอันดับที่น่าชื่นชม ด้วยแหล่งข้อมูลที่ทาง TI ใช้ในการประเมินผลประเทศไทยมาจาก 9 แหล่งข้อมูล นำมาใช้คำนวณดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ดังนี้
ซึ่งเห็นได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบอำนาจของภาครัฐ การประเมินระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไปจนถึงด้านความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และแน่นอนว่าคงเป็นคำถามในใจของหลาย ๆ คน ว่า “จำเป็นแค่ไหนที่ไทยต้องให้ความสำคัญกับอันดับคะแนน CPI และ คะแนน CPI ส่งผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้าง”
คำตอบคือ “เพราะ CPI สะท้อนภาพลักษณ์ด้านความสุจริตโปร่งใสของประเทศ จึงไม่สามารถมองข้ามไปได้ อีกทั้งตัวเลขที่ดี ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนการไร้ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชันย่อมนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง”
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมีการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ กลุ่มองค์กร และภาคเอกชนเพื่อมุ่งยกระดับคะแนน CPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สามารถประเมินค่าความสำเร็จออกมาในเชิงตัวเลขได้ ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นความมุ่งหวังสำคัญของคนไทย นั่นคือ “ให้ทุจริตคอร์รัปชันบ่อนทำลายชาติบ้านเมืองหมดไปจากสังคมไทย” โดยมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้กำหนดเป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” และกำหนดตัวชี้วัด “ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (อันดับ/คะแนน)” ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) เพื่อส่งเสริมการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2) เพื่อให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อย่างต่อเนื่อง 3) เพื่อพัฒนาระบบป้องกันการรับสินบนของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ 4) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 5) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินคดีทุจริต และเผยแพร่ผลการดำเนินคดีทุจริตให้สาธารณชนรับทราบ และ 6) เพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้โดยง่าย โดยมีเป้าหมายให้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 อยู่ในอันดับ 1 ใน 53 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า
51 คะแนน และปี พ.ศ. 2567 อยู่ในอันดับ 1 ใน 51 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 53 คะแนน
แน่นอนว่า เป้าหมายจะสำเร็จได้ต้องมาจากความร่วมมือจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงหน่วยงาน ป.ป.ช. เพียงหน่วยงานเดียวที่เป็นเจ้าภาพหลัก แต่ยังได้มีการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ จัดตั้งคณะทำงานด้านการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูล ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงาน ก.พ.ร. สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ดีขึ้น พัฒนาระบบป้องกันการรับสินบนของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้มาตรฐาน ISO 37001 ระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน (Anti - Bribery Management Systems) ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการเพื่อต่อต้านการติดสินบน โดยองค์การมาตรฐานสากล (International Organization for Standardization: ISO) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์การ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดสินบน และสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดให้ประชาชนผู้รับบริการสามารถตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนผ่านช่องทางหรือระบบที่มีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงยึดมั่นในนโยบาย No Gift Policy ที่สร้างความตระหนัก สร้างวัฒนธรรม “ไม่รับของขวัญ ของกำนัล” ที่จะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง เกิดเป็นช่องโหว่ต่อการรับสินบนได้ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการผลักดันพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ที่จะมีทั้งมาตรการเอาผิดตามหลักกฎหมายที่มีความครอบคลุม ทั้งยังได้วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยกำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ นำไปเป็นมาตรฐานกลาง ในการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมแห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (4) “คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ” หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. และองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งปี 2566 นี้ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรมีนโยบายที่จริงจังในการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในหน่วยงานรัฐ เช่น ผู้บังคับบัญชามีนโยบายตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานรัฐนั้น ว่ามีการปฏิบัติงานที่ทุจริตหรือไม่ ตลอดจนนโยบายการหาเสียง หรือการเสนองบประมาณให้เป็นไปตามหลักประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน เป็นต้น
ไม่ว่าผลลัพธ์ของระดับคะแนน CPI จะสามารถผลักดันให้เป็นไปตามที่ใจฝันได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นร่วมกันทำอย่างจริงจังในทุกหน่วยงานคือ อย่าปล่อยให้ “ชื่อเสีย” ของการทุจริตในประเทศ ดังกระฉ่อนข้ามชาติ ตลอดจนควบคุมให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากภาษีประชาชน ไม่รั่วไหลไปอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง รวมถึง เจ้าหน้าที่รัฐควรมีความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ลดปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน และคนไทยทุกคน ต่างร่วมด้วยช่วยกันฉีดวัคซีน “ไทยไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน” สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะช่วยยกระดับคะแนน CPI ของไทยให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงในอนาคต