Contrast
Font
26bda3d20afacae31717d850ccb849fb.jpg

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ และกรณีร่ำรวยผิดปกติ รวมจำนวน 3 เรื่อง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 5102

27/06/2567

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ และกรณีร่ำรวยผิดปกติ รวมจำนวน 3 เรื่อง

    วันนี้ (27 มิถุนายน 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ  และกรณีร่ำรวยผิดปกติ รวมจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้  

     เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กับพวก ใช้รถยนต์ส่วนกลางเป็นรถประจำตำแหน่งของตน

      ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้สั่งการให้เลขานุการขออนุมัติ ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อเดินทางไปปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง นางนิรมล ศรีภูมินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ได้อนุมัติให้ใช้รถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ชฐ 5663 กรุงเทพมหานคร ในการเดินทางไปปฏิบัติงานดังกล่าว รวมทั้งอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 รวมเป็นเงินจำนวน 254,685 บาท ทั้งที่ตามสัญญาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 กำหนดให้นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับค่าตอบแทนอัตราเงินเดือนประจำ เดือนละ 150,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งในอัตราร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ จำนวน 37,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 187,500 บาท นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จึงไม่มีสิทธิใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 วรรคสาม

    คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

  1. การกระทำของนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91  และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง        
  2. การกระทำของนางนิรมล ศรีภูมินทร์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ได้กระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง

     ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย
ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี และให้แจ้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง

      เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ

     ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา สั่งการและอนุญาตให้พนักงานจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับรถยนต์ส่วนกลาง ยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน กน 2936 นครราชสีมา จัดทำบันทึกลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 ขออนุญาตเก็บรักษารถยนต์ส่วนกลางไว้ที่บ้านพักของพนักงานจ้างรายดังกล่าว   ทั้งที่ไม่ได้มีราชการจำเป็นเร่งด่วน และเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม มีสถานที่เก็บรักษาปลอดภัยเพียงพอและในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2557 และวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ  นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ ได้มีคำสั่งให้พนักงาน จ้างนำรถยนต์ส่วนกลางคันดังกล่าว ขับพาตนเองไปทำธุระส่วนตัว ในเขตจังหวัดนครราชสีมาและในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม รวมเป็นเงินจำนวน 3,235 บาท เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมได้รับความเสียหาย

      คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

       การกระทำของนายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73

      ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวน  และเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี และให้แจ้งผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

          เรื่องที่ 3 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นางสาวนภาภรณ์ ทองมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชีปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่ำรวยผิดปกติ

       ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2552 ขณะนางสาวนภาภรณ์ ทองมีดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับเงินเดือนจากองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน รวมเป็นเงินจำนวน 550,560 บาท และไม่มีรายได้อื่น แต่มีทรัพย์สินเป็นเงินสดเพิ่มขึ้น จำนวน 1,273,625 บาท และมีรายการฝากเงิน
เข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง จำนวน 3 บัญชี รวมเป็นเงิน  830,991.87 บาท ซึ่งเกินกว่ารายได้ที่ได้รับ

       คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

       นางสาวนภาภรณ์  ทองมี ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,104,616.87 บาท

      ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม

     หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้วแต่กรณี ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามนัยมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

      จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

             การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

        ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

 

Related