จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1881
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมจำนวน 2 เรื่อง
วันนี้ (21 สิงหาคม 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมจำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหาสรรพากรพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง กับพวก คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการส่งออกซึ่งไม่มีสิทธิได้รับ และนายพิสัย วงษ์ศิริ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายกฤตภัค หนูเพชร นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ด่านศุลกากรหนองคาย กับพวก ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกโดยทุจริต เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย
รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 613,877,793.31 บาท (5 สำนวนคดี)
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2556 นายชัยโรจน์ เกียรติกิตติธนา หรือนายชัยโรจน์ ชาญญาเกียรติ กับพวก และนางสาวจรรยา พุทธา หรือนางสาวณฐาณัฏฐ์ ฐานิตธินิดา กับพวกได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นหลายแห่งเพื่อแสดงว่าเป็นผู้ประกอบกิจการซื้อขายและส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ และจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่มิได้ประกอบกิจการจริงและมีวัตถุประสงค์เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ โดยบริษัทที่จัดตั้งเป็นผู้ขายภายในประเทศได้ออกใบกำกับภาษีซื้อให้กับบริษัทผู้ส่งออกทั้งที่ไม่มีการซื้อขายกันจริง และบริษัทที่จัดตั้งเป็นผู้ส่งออกได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศลาว โดยจัดทำเอกสารใบกำกับสินค้า (Invoice) อันเป็นเท็จว่ามีการส่งสินค้าออกสำหรับผ่านพิธีการศุลกากร โดยมีนายพิสัย วงษ์ศิริ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายกฤตภัค หนูเพชร นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ด่านศุลกากรหนองคาย ปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออก ทั้งที่สินค้าที่ส่งออกไม่ตรงกับที่สำแดงไว้ในรายการใบขนสินค้า โดยได้รับค่าตอบแทนในการดำเนินการเป็นเงินจำนวนครั้งละ 40,000 – 80,000 บาท ทำให้บริษัทผู้ส่งออกได้ไปซึ่งหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรและได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แล้วนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ต่อกรมสรรพากร โดยแสดงให้เห็นว่ามีภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งถูกเรียกเก็บและนำส่งต่อกรมสรรพากร มากกว่าภาษีขาย และสรรพากรพื้นที่ที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย นางธนาพัณ ไวทยินทร์ สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 นางกัญญา อัศวโกวิทกรณ์ สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 1 นายบุญเสริม สังข์มงคล สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 21 และนายนิตย์ ลิมปิทีป สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 กับพวก ได้อนุมัติให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทผู้ส่งออก รวมจำนวน 17 ราย โดยไม่มีสิทธิได้รับ เป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 613,877,793.31 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี
และให้แจ้งกรมสรรพากร และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายอิศรา ซามัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ด่านศุลกากรสังขละบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี กับพวก ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกอันเป็นเท็จ
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า กรณีการไต่สวนเรื่องนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายจำรูญ ควรสวัสดิ์ สรรพากรพื้นที่กาญจนบุรี และสรรพากรพื้นที่สมุทรสงคราม กับพวก ทุจริตคืนเงิน ภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการส่งสินค้าออกจริง เมื่อปี พ.ศ. 2553 – 2557 โดยขณะเกิดเหตุ นายอิศรา ซามัน นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ นายสุรพงษ์ วงวาศ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายสุเทพ เลี่ยวสมบูรณ์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรสังขละบุรีและด่านพรมแดน (ด่านเจดีย์สามองค์) จังหวัดกาญจนบุรี ไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ได้กระทำการตรวจปล่อยและรับบรรทุกสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกในระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร โดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนปกติ เพื่อให้บริษัทผู้ประกอบการได้ไปซึ่งหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออก ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่ใช่ผู้ประกอบการส่งออกและมิได้มีการส่งสินค้าออกจริง แล้วนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร โดยที่ไม่มีสิทธิได้รับ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 121,474,313.28 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยัง
อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งกรมศุลกากร ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสองต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
** การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด
ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด