Contrast
Font
4299ae88a201d6d4a67d6531aa21efc4.jpg

ป.ป.ช. แจงผลคดีตามคำพิพากษากรณีนายโสรัจจ์ สุทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้า บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรวมมูลค่า 5,123,222.50 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 390

18/09/2567

     ป.ป.ช. แจงผลคดีตามคำพิพากษากรณีนายโสรัจจ์ สุทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์  เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้า บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรวมมูลค่า 5,123,222.50 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน         

     วันนี้ (18 กันยายน 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3  กรณีนายโสรัจจ์ สุทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้า บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 - วันที่ 12 มีนาคม 2547 มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรวมมูลค่า 5,123,222.50 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน      

      สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายโสรัจจ์  สุทธิวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้า บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และจากการไต่สวนมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

    จากการไต่สวนข้อเท็จจริงเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งรายงาน สำนวน การไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน

       ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความแพ่ง เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน คดีหมายเลขดำที่ พท 3/2567 คดีหมายเลขแดงที่ พท 2/2567 ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้อง กับนายโสรัจจ์ สุทธิวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ความว่าศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ดังนี้

  1. รายการธุรกรรมบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเตียน ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี นายโสรัจจ์  สุทธิวงศ์ ดังนี้  

วันที่  13  กุมภาพันธ์  2545       ฝากเงินสดจำนวน                   100,000  บาท

วันที่  6  มิถุนายน   2545         ฝากเงินสดจำนวน                   109,870  บาท

วันที่  31  กรกฎาคม  2546       ฝากเงินสดจำนวน                   65,000  บาท

วันที่  14  สิงหาคม  2546         ฝากเงินสดจำนวน                   80,000  บาท

วันที่  22  กรกฎาคม  2547       ฝากเงินสดจำนวน                   224,155  บาท

วันที่  6  กันยายน  2547          ฝากเงินสดจำนวน                   150,000  บาท

 

     2. รายการธุรกรรมบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปู่เจ้าสมิงพราย ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี นายโสรัจจ์  สุทธิวงศ์  ดังนี้

วันที่  13  กุมภาพันธ์  2545       ฝากเงินสดจำนวน                   100,000  บาท

วันที่  14  ตุลาคม  2545           ฝากเงินสดจำนวน                   1,000,000  บาท

วันที่  12  พฤศจิกายน  2545     ฝากเงินสดจำนวน                   750,000  บาท

วันที่  25  มีนาคม 2546           ฝากด้วยเช็คธนาคาร/โอน           80,000  บาท

วันที่  13  สิงหาคม 2546           ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            200,000  บาท

วันที่  21  สิงหาคม 2546          ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            50,000  บาท

วันที่  15  ตุลาคม 2546            ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            150,000  บาท

วันที่  29  ตุลาคม 2546            ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            100,000  บาท

วันที่  14  พฤศจิกายน 2546      ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            50,000  บาท

วันที่  19  มกราคม 2547           ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            50,000  บาท

วันที่  5  กุมภาพันธ์ 2547         ฝากเงินข้ามเขตหักบัญชี            91,100  บาท

วันที่  2  มีนาคม 2547             ฝากด้วยเช็คธนาคาร/โอน           103,097.50 บาท

วันที่  7  พฤษภาคม  2547        ฝากเงินสดจำนวน                   141,000  บาท

วันที่  17 พฤษภาคม  2547       ฝากเงินสดจำนวน                   157,500  บาท

วันที่  6  กรกฎาคม  2547         ฝากเงินสดจำนวน                   180,000  บาท

วันที่  11  สิงหาคม  2547         ฝากเงินสดจำนวน                   100,000  บาท

วันที่  10  กรกฎาคม  2550       ฝากเงินสดจำนวน                   220,000  บาท

วันที่  20  กรกฎาคม  2550       ฝากเงินสดจำนวน                   50,000  บาท

วันที่  6  สิงหาคม  2550           ฝากเงินสดจำนวน                   202,000  บาท

วันที่  15  สิงหาคม  2550         ฝากเงินสดจำนวน                   69,500  บาท

วันที่  13  กันยายน  2550         ฝากเงินสดจำนวน                  80,000  บาท

วันที่  19  พฤศจิกายน  2550     ฝากเงินสดจำนวน                   400,000  บาท

วันที่  7  พฤษภาคม  2551        ฝากเงินสดจำนวน                   70,000  บาท

รวม 5,123,222.50 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน และแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้มีอำนาจถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา  หากไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหา ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

                จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

    ***การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

            ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

Related