จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 48
มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปดำเนินการ นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตามและเฝ้าระวังมิให้มีการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยจากการดำเนินการติดตามและรายงานผลการติดตามการดำเนินการตามมาตรการฯ ดังกล่าว ในปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 ปรากฏข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการตรวจสอบ ติดตาม จึงเห็นควรแจ้งข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในส่วนของการออกนโยบาย/หลักเกณฑ์การรับนักเรียน ให้มีหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้รับทราบถึงปัญหา และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกนโยบาย/หลักเกณฑ์การรับนักเรียน ให้มีหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้นกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมา ตลอดจนแจ้งเวียนหนังสือกำชับไปยังหน่วยงานในสังกัดเพื่อให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา ต่อไป
ข้อเสนอแนะ
1. ด้านนโยบายการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ
1) ควรยกเลิกการรับนักเรียนด้วยเงื่อนไขพิเศษทุกข้อ เพื่อเป็นการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา
2) กรณีมีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจาก 4 ข้อเดิม สถานศึกษาต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือนิยามของเงื่อนไขพิเศษในแต่ละข้อให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติการสมัครเข้าเรียนของนักเรียนเงื่อนไขพิเศษให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจของสถานศึกษาในการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่ม
3) ไม่ควรเปิดโอกาส ให้สถานศึกษากำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในนโยบายหรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนประจำปีการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด เนื่องจากการเปิดโอกาสดังกล่าว พบช่องว่างให้เกิดการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อแลกกับการเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ง่ายขึ้น
4) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ควรตรวจสอบและกำชับให้โรงเรียนในเขตพื้นที่ จัดทำประกาศรายชื่อการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ โดยเปิดเผยให้สาธารณชนทราบว่านักเรียนมีสิทธิเข้าศึกษาจากเงื่อนไขพิเศษข้อใด เพื่อความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ประกอบกับ โรงเรียน/สถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรมีความเข้มงวดในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่นอกเหนือจาก 4 ข้อเดิม มิให้เข้าหลักเกณฑ์เดิมที่ยกเลิกไป
2. ด้านวิธีปฏิบัติในการรับนักเรียน
1) แต่งตั้งคณะกรรมการการรับนักเรียน โดยให้หน่วยงาน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทุกฝ่าย และควรมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนคณะกรรมการรับนักเรียนเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบการดำเนินการรับนักเรียนให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส
2) การดำเนินการรับนักเรียน ไม่ควรกำหนดให้ดำเนินการพร้อมกันทุกโรงเรียนทั่วประเทศ เห็นควรให้โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ดำเนินการรับนักเรียนและสอบคัดเลือกให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อป้องกันปัญหาเด็กที่ไปสอบคัดเลือกในโรงเรียนแข่งขันสูงและไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่มีที่เรียน
3) กระบวนการจัดทำและคัดเลือกข้อสอบ ควรมีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใส และการออกข้อสอบหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ควรมีการควบคุมให้เป็นความลับและมีความเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัครเข้าศึกษา
4) ควรกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการกำหนดรูปแบบมาตรฐานกลางสำหรับการประกาศผลการคัดเลือกนักเรียน การประกาศผลการสอบ คะแนนการสอบ โดยเรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบแข่งขันได้ของนักเรียนที่เข้าสอบทุกคน เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
3. ด้านการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต
1) ควรนำมาตรการป้องกันการทุจริต ในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา ไปใช้กับสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาเอกชน เป็นต้น
2) ควรมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือประกาศเจตนารมณ์ ว่า “การสอบคัดเลือกเข้าเรียน ไม่มีเด็กฝาก” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด โรงเรียนและสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์
3) ควรมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ให้กับผู้นำชุมชนและประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา
4) การจัดกิจกรรมรณรงค์ การให้ความรู้การป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนที่มีลักษณะเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเป็นการให้และรับสินบนแก่เจ้าพนักงานของรัฐเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษามากขึ้น
5) เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและปรับปรุงมาตรฐาน การจัดการเรียนการสอนของทุกโรงเรียนให้เท่าเทียมกัน
6) โรงเรียนแต่ละแห่งควรประกาศนโยบายของโรงเรียนให้ชัดเจน ว่าไม่มีการรับบริจาคเพื่อแลกกับการได้เข้าเรียน หรือออกกฎ ระเบียบ เรื่องการงดระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงที่มีการรับนักเรียน เช่น การทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา วิ่งเพื่อการกุศล เพื่อป้องกันการรับบริจาค/บริจาคโดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝง
4. ด้านข้อเสนอของสถานศึกษา
1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บุคลากรที่มีหน้าที่ในการรับนักเรียนถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม และควรพัฒนาระบบการรับสมัครนักเรียนออนไลน์ ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน รวมถึงควรมีการประกาศห้ามไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการอื่นที่ไม่มีหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนของโรงเรียน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง เพื่อฝากนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา และมีการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว อย่างเข้มงวด
2) ประกาศการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ควรมีความกระชั้นชิด เพราะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนบางแห่งที่ขาดความพร้อมในการรับสมัครนักเรียนผ่านระบบการรับสมัครนักเรียนออนไลน์
3) ควรมีการติดตามและประเมินผล เพื่อนำข้อดีและข้อเสียไปปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการปีการศึกษาต่อไป