Contrast
Font
a78bcae3edca7a214717bcc7c782c4bd.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต!! เรื่อง : สรุปสาระสำคัญ “พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 ที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ช.”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 2955

21/12/2565

ตอนที่ 1 ที่มาพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565

      พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้โดยผ่านช่องทางที่หลากหลาย

      แต่ทั้งนี้จะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนายความยุติธรรมหรือการดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่าทางใด

อ่านรายละเอียด พ.ร.บ. เพิ่มเติม Click link ด้านล่างนี้
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0001.PDF

----------

ตอนที่ 2  “หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้มีอย่างไรบ้าง (มาตรา 6)”

      โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม มีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา 6 ถึงมาตรา 11 โดยมีรายละเอียดดังนี้

      มาตรา 6 ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๕ กำหนดระยะเวลา แล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ ของตนตามแต่ลักษณะ สภาพ หรือประเภทคดี รวมทั้งปริมาณงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ เว้นแต่ มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

      กำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศและเผยแพร่ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึง และเข้าใจได้โดยง่าย

อ่านรายละเอียด พ.ร.บ. เพิ่มเติม Click link ด้านล่างนี้
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0001.PDF

----------

ตอนที่ 3  “หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้มีอย่างไรบ้าง (มาตรา 7)”

      มาตรา 7 ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนให้แล้วเสร็จภายใน กำหนดระยะเวลาตามมาตรา 6 หากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้บันทึกเหตุแห่ง ความล่าช้าให้ปรากฏ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งรายงาน ให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้งเพื่อพิจารณาสั่งการ แล้วให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแจ้งให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้า ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การรายงานและการแจ้งให้เป็นไปตามวิธีการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนด ซึ่งต้องมี หลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้

      ในกรณีที่ไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หรือในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าความล่าช้านั้น เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่แจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ ให้ผู้บังคับบัญชา พิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อไป

อ่านรายละเอียด พ.ร.บ. เพิ่มเติม Click link ด้านล่างนี้
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0001.PDF

----------

ตอนที่ 4  “หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้มีอย่างไรบ้าง (มาตรา 8 - 9)”

      มาตรา 8 ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 5 จัดให้มีระบบเทคโนโลยี สารสนเทศหรือวิธีการอื่นใดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถทราบหรือตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมได้ ในคดีใดที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มี ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิธีการอื่นใด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นกำหนด 

      มาตรา 9 ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 5 จัดให้มีผู้รับผิดชอบ เป็นการเฉพาะเพื่อรับเรื่องในกรณีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากความล่าช้า  และให้ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน แล้วแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง 

อ่านรายละเอียด พ.ร.บ. เพิ่มเติม Click link ด้านล่างนี้
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0001.PDF

----------

ตอนที่ 5  “หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้มีอย่างไรบ้าง (มาตรา 10 - 11)”

      มาตรา 10 ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 5 เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ ระยะเวลาของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน วัดผลการดำเนินงานเทียบกับ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาดำเนินงานตามมาตรา 6 พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชน ทราบทุกปี

      มาตรา 11 ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 5 ตรวจสอบขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 6 ว่าเป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ให้มีมาตรการเพื่อพัฒนา หรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับ ความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี

อ่านรายละเอียด พ.ร.บ. เพิ่มเติม Click link ด้านล่างนี้
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0001.PDF      

Related