Contrast
Font
642622cc74c486b3d5d393da28443113.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ เรื่อง "รับสินบน...ทางเดินสู่ประตูคุก"

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 9792

10/04/2566

ที่มาของเรื่อง "รับสินบน...ทางเดินสู่ประตูคุก"

การเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี รวมทั้งโอกาสที่ดียิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ แต่การเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีโอกาสและช่องทางในการใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบได้เช่นกัน เสมือนทางเลือกที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเลือกเดินทางใด จะเลือกทางเดินของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ อันเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง สง่างามเป็นเกียรติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล หรือจะเลือกทางเดินของการทุจริตโกงกิน รับสินบน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะนำพาอนาคตของชีวิตราชการไปพบเส้นทางที่น่าอนาถ น่าอับอาย ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการและสุดท้ายต้องถูกลงโทษจำคุก เสื่อมเสียเกียรติชื่อเสียง
-------
กรณีศึกษา "การเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดี"

จำเลยดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัด ย. รับผิดชอบงานดำเนินคดีแพ่งและงานดำเนินคดีอาญาที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการดำเนินคดีและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัด รวมถึงมีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินคดี ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำเลยได้เรียก รับหรือยอมจะรับเงิน จำนวน 100,000 บาท จากนาง ส. เพื่อช่วยเหลือนาย ก. สามีไม่ให้ถูกลงโทษจำคุกในคดีข้อหามียาเสพติดประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 จำคุก 5 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน

**มาตรา 201 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
-------
กรณีศึกษา "การเรียกรับเงินในการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากผู้ประกอบการ"

ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 ทำหน้าที่หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือ ก. มีหน้าที่ตรวจสินค้าและลงนามในใบรับรองปลอดศัตรูพืช ให้แก่บริษัทหรือผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าเกษตรออกนอกประเทศ ในการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชและต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าตรวจสอบศัตรูพืช ในระหว่างเดือนมีนาคม 2548 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ได้เรียกรับเงินจากนาง น. ผู้จัดการบริษัท จ. ที่ยื่นคำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช จำนวน 182 ฉบับ จำนวน 8 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,236,650 บาท ซึ่งได้เสียเป็นค่าธรรมเนียม 9,100 บาท และค่าป่วยการ 10,920 บาท รวมเป็นเงิน 20,020 บาท เท่านั้น จึงมีเงินที่เป็นส่วนต่าง 1,216,630 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้แก่บริษัท จ.

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุก 5 ปี

**มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือ
ไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง
ยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

*คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 คดีหมายเลขดำที่ อท 4/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อท 3/2564

Related