Contrast
Font
66e094fc0d0f24e25570b101a8a277c0.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ เรื่อง "นักการเมืองกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ : เรื่องต้องรู้ก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง 2566"

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 573

24/05/2566

ตอนที่ 1 : บทบาทของ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

“นักการเมือง” หลายท่านมีเจตนารมณ์อันดีด้วยความมุ่งมั่นที่หมายจะเข้ามาพัฒนาประเทศ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีมีสุข ผ่านการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนชนะการเลือกตั้ง จะเกิดกระบวนการเข้าสู่อำนาจโดยมีสถานะเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ในขณะเดียวกันกระบวนการดังกล่าวนับเป็นช่องทางอันหอมหวานสำหรับนักการเมืองที่มีเจตนาทุจริตในการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้วางกลไกเพื่อป้องกันมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยรัฐธรรมนูญฯ ได้รับรอง “หลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์” เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันการทุจริตประการหนึ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

ตอนที่ 2 : กม.ต้องรู้ ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง)

สำหรับบรรดาท่านที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 184 และมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดพฤติการณ์อันเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์ โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้ 

1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

2) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด ตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

4) ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

"ตอนที่ 3 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ก้าวก่าย แทรกแซงหรือดำเนินการดังนี้"

ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 185 ได้กำหนดให้บุคคลดังกล่าวต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในเรื่องต่อไปนี้

1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

2) กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา

3) การบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

ตอนที่ 4 : มาตรา 187 กำหนดให้ รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท)

ในกรณีของรัฐมนตรี มาตรา 187 กำหนดให้ รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติและต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด รวมทั้งจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทไม่ว่าในทางใด ๆ มิได้

“ผลของการกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้สถานะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสิ้นสุดลง”

- กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 101 (7) กรณีสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 111 (7) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (5)

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

----------

ตอนที่ 5 : พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์

หลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศได้มีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่ “นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา”  เป็นหนึ่งในตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ตนมีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี ตามมาตรา 126

“การฝ่าฝืนกระทำกิจการตามมาตรา 126 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

ตอนที่ 6 : มาตรา 126 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินกิจการใดบ้าง

มาตรา 126 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดำเนินกิจการต่าง ๆ ดังนี้

1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ

2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ (ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น)

3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด (ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น)

4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษาตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้าง ในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

การดำเนินกิจการทั้ง 4 ประการข้างต้นนั้นยังห้ามรวมไปถึง คู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสดำเนินการอยู่ก่อนที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเข้าดำรงตำแหน่ง

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

ตอนที่ 7 : มาตรา 128 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด

มาตรา 128 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด และการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือญาติที่ให้ตามประเพณีหรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป

“การฝ่าฝืนกระทำกิจการตามมาตรา 128 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

ตอนที่ 8 : ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว ห้ามกระทำการใดบ้าง

สำหรับ..ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ยังมีกฎหมายที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการบางอย่างต่อไปอีก

โดย มาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติ

ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ดำเนินการตามมาตรา 126 (4) คือ ห้ามเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดอยู่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น โดยห้ามดำเนินกิจการดังกล่าวต่อไปอีกเป็นเวลา 2 ปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้มาตราดังกล่าวมิได้ห้ามรวมไปถึงการดำเนินการของคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งนั้น

“การฝ่าฝืนมาตรา 127 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วยังไม่ถึง 2 ปี ยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 128 อีกด้วย กล่าวคือ ห้ามมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น

“ฝ่าฝืนมาตรา 128 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

------------

ตอนจบ : ฝากไว้สักนิด...ก่อนพิชิตศึกเลือกตั้ง ’66

จะเห็นได้ว่า เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์นับเป็นเรื่องสำคัญที่บรรดานักการเมืองทั้งหลายและคู่สมรส ต้องเตรียมตัวทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ขณะดำรงตำแหน่ง รวมถึงหลังจากที่ได้พ้นจากตำแหน่งด้วย โดยต้องตรวจสอบว่าตำแหน่งที่ตนจะเข้าดำรงตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งที่ห้ามดำเนินกิจการที่อาจก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การใช้อำนาจของตนทั้งในทางนิติบัญญัติก็ดีหรือทางบริหารก็ดี ต้องเป็นไปตามเจตจำนงทางการเมืองที่ได้รับมอบมาจากประชาชน โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามคำปฏิญาณที่ท่านให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและสมกับปณิธานและอุดมการณ์ตามที่ท่านได้ตั้งมั่นเพื่อเป็น “ผู้แทนของปวงชนชาวไทย” อย่างแท้จริง

ที่มา : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช.

Related