จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1664
Infographic ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2566
"ดำเนินการให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม"
อบต. แห่งหนึ่ง ได้ประกาศสอบราคาก่อสร้างเสริมขยายถนน ในวันสุดท้ายที่กำหนดให้มีการยื่นซองสอบราคาก่อน 15.00 น. นาย ข. ได้ยื่นซองต่อเจ้าหน้าที่รับซองของ อบต. โดยถูกนาย ก. เสนอเงินให้เพื่อมิให้มีการยื่นซอง แต่นาย ข. ไม่ยินยอม จึงถูกนาย ก. ทำการกีดกันโดยยืนขวางหน้าประตูทางเข้า และแย่งซองเสนอราคาจนทำให้นาย ข. ไม่สามารถเข้าไปยื่นซองได้ทันตามเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นนาย ก. ได้ยื่นเงินให้กับผู้เสนอราคารายอื่นๆ ซึ่งนาย ค. ประธานกรรมการบริหาร อบต. ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการสอบราคาครั้งนี้ มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แต่กลับละเว้นไม่ดำเนินการให้มีการยกเลิกการสอบราคาครั้งนี้ และได้สั่งให้มีการเปิดซองเสนอราคาต่อไป
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 13 ประกอบมาตรา 3 ส่วนการกระทำของนาย ค. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 12 และมาตรา 13 ประกอบมาตรา 3
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566
"เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง"
สำนักงานประปาแห่งหนึ่ง ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายหนึ่ง ปรับปรุงเส้นท่อประปาตามแนวถนนราชดำเนินในเขตเทศบาลเมือง ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองวิชาการเป็นประธานกรรมการ นาย ก. ผู้จัดการสำนักงานประปา และหัวหน้างานควบคุมน้ำเสีย เป็นกรรมการ ในระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงเส้นท่อประปาอยู่นั้น นาย ก. ได้โทรศัพท์ติดต่อเรียกเงินจากผู้รับจ้าง จำนวน 50,000 บาท โดยให้โอนเงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง ไปยังธนาคาร ให้แก่นาย ก. โดยนาย ก. ได้ไปรับเงินด้วยตนเอง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเงิน 50,000 บาท นาย ก. ให้ถ้อยคำและชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นเงินที่ขอยืมจากหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้รับจ้างและยังไม่ได้ใช้คืน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของ นาย ก. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจรับงานจ้างการปรับปรุงเส้นท่อประปาให้เป็นไปตามสัญญา แต่กลับอาศัยสถานะดังกล่าว ขอยืมเงินจากผู้รับจ้าง มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค
ส่วนการกระทำของนาย ก. ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กรรมการตรวจการจ้างเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง ยังไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอ เนื่องจากพยานมีลักษณะยันกันปากต่อปาก และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการตรวจรับงานจ้างในทางช่วยเหลือ หรือให้ประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2566
"ทุจริตถอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าธนาคาร"
นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งธนกรชั้น 4 ประจำธนาคารแห่งหนึ่ง มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการรับฝาก/ถอน/โอนเงินสด ตามวงเงินและอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ตรวจนับเงินสด เก็บรักษาเงินสด อาศัยการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่กระทำผิดกฎหมายโดยวิธีปลอมลายมือชื่อลูกค้าธนาคารฯ เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ ผู้ตรวจสอบ แล้วถอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าและยักยอกนำไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และโดยวิธีไม่นำเงินที่ลูกค้าขอฝากเข้าบัญชีลูกค้าโดยระบบออนไลน์ แต่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์จำนวนเงินที่ฝากในสมุดเงินฝากแทน แล้วยักยอกเงินที่ลูกค้าไปฝากจำนวน 11 ราย หลายครั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,518,993.90 บาท ไปเป็นของตน โดยทุจริต ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 และเป็นความผิดวินัย
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2566
"ทุจริตเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้าธนาคาร"
นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชี ธนาคารแห่งหนึ่ง ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินฝากของลูกค้าธนาคาร โดย นาย ข. และนาย ค. ลูกค้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หลักของธนาคาร แจ้งต่อธนาคารฯ ว่า ได้มา ถอนเงินในบัญชีดังกล่าว พบว่า ยอดเงินขาดหายไป หลังจากนั้นมีลูกค้าหลายรายทยอยนำสมุดบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ มาตรวจสอบยอดเงินกับธนาคารฯ พบว่า จำนวนเงินในบัญชีขาดหายไปเช่นเดียวกัน และจากการตรวจสอบเอกสารรายงานการเคลื่อนไหวประจำวัน พบว่า เจ้าหน้าที่หลายคนของสาขาเป็นผู้ทำรายการผ่านบัญชีโดยนาย ก. เป็นผู้รับรองการทำรายการ และผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้า จำนวน 16 ราย 17 บัญชี โดยวิธีการโอนหักบัญชี ซึ่งเงินที่ทุจริตดังกล่าวนาย ก. ได้นำไปฝากเข้าบัญชีลูกค้ารายอื่นที่นาย ก. เคยทุจริตไว้ก่อนหน้า หรือโอนเงินในระบบออนไลน์ไปยังบัญชีลูกค้าต่างสาขาเพื่อชำระหนี้ระหว่างกัน หรือฝากหรือโอนเข้าบัญชีของลูกค้าที่นาย ก. ลักลอบใช้บัญชีเป็นที่พักเงินที่ทุจริตจากบัญชีของลูกค้ารายอื่นแล้วปลอมลายมือชื่อลูกค้าเพื่อถอนเงินสดหรือโอนเงินไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 สำหรับความผิดวินัย เนื่องจากธนาคาร มีคำสั่งลงโทษ ไล่ออกแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการทางวินัยอีก
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2566
"เบียดบังเงินค่าปรับจราจร เงินประกันตัวผู้ต้องหา เงินค่าอาหารผู้ต้องโทษกักขังไปเป็นของตน"
สิบตำรวจเอก ค. ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานธุรการ สภ.แห่งหนึ่ง มีหน้าที่รวบรวมเงินค่าปรับจราจร เงินประกันตัวผู้ต้องหา เงินค่าอาหารผู้ต้องโทษกักขัง นำส่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2543 สิบตำรวจเอก ค. ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวและได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วไม่นำส่ง นำฝาก หรือนำจ่ายตามหน้าที่ แต่ได้เบียดบังเป็นของตนเองโดยทุจริตจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 971,022.25 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของสิบตำรวจเอก ค. มีความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ประกอบมาตรา 91
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2566
"ปลอมเช็คและเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตน "
นาง ก. หัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบล บ. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินได้กรอกรายการต่างๆ ลงในเช็คธนาคาร เพื่อชำระหนี้ขององค์การบริหารส่วนตำบล บ. และได้เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติ เมื่อมีการอนุมัติและลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้ว นาง ก. ได้ทำการเพิ่มเติมจำนวนเงินในเช็คและนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตและมีการกระทำในลักษณะเดียวกันกับเช็ค จำนวน 12 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,752,967.38 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาง ก. ความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 มาตรา 158 และมาตรา 161 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2566
"ปลอมลายมือชื่อพนักงานอื่น เบิกเงินยืมทดรองไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว "
นาง ก. หัวหน้าแผนกเงินค้างและเงินยืมทดรอง ได้ปลอมลายมือชื่อของพนักงานสังกัดหน่วยต่างๆของหน่วยงาน A จำนวน 20 คน และผู้อนุญาตจ่ายเงินในเอกสารทั้งสิ้น 243 ฉบับ จำนวนทั้งสิ้น 11,041,270 บาท นอกจากนั้น นาง ก. ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการคลังเงินคลังใหญ่ และอาศัยอำนาจหน้าที่ดังกล่าววางแผนเบิกจ่ายเงินออกจากคลังใหญ่ โดยมอบเงินให้หัวหน้าแผนกเงินนำไปมอบต่อให้พนักงานจ่ายเงิน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินเกินยืมทดรองให้แก่นาง ก.
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาง ก. มีมูลความผิดทางวินัยและมูลความผิดทางอาญา แต่เนื่องจากผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษไล่ออกจากงานแล้ว จึงให้งดการดำเนินการทางวินัย
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2566
"เบียดบังเงินที่ได้รับการจัดสรรอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นเหตุให้เงินขาดบัญชี"
องค์การบริหารส่วนตำบล A มีการเบิกเงินภาษีที่ได้รับโอนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยโอนผ่านธนาคาร นำเข้าบัญชีออมทรัพย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล A เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายโดยนาย ก. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล A และนาย ข. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล A เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็คให้แก่ นาย ค. หัวหน้าส่วนการคลังจำนวน 20 ฉบับ เมื่อนาย ค. ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว กลับนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไม่ได้นำฝากเข้าบัญชี โดยปรากฏว่าแท้ที่จริงแล้ว นาย ค. ได้ปลอมลายมือชื่อของนาย ก. และนาย ข. จ่ายเช็คจำนวน 20 ฉบับ ให้แก่ตนเอง จากนั้นจึงได้นำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารเป็นเงินสด แล้วเบียดบังเงินไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
กรณีการกระทำของนาย ก. และนาย ข. มีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง แต่เนื่องจากนาย ก. พ้นตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล A แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการกับนาย ก. ส่วนนาย ข. ผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษตัดเงินเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนกรณีการกระทำ ของนาย ค. มีมูลเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรงและถูกไล่ออกจากราชการจากกระทำการทุจริตในครั้งนี้แล้ว และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา จึงให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล กับ นาย ค. ต่อไป
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2566
"เบียดบังเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินค่าค้ำประกันสัญญาจ้างก่อสร้าง"
นาง ก. ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน หรืองานที่เกี่ยวกับการเงินการบัญชีตามระเบียบของทางราชการ กระทำการโดยทุจริตเบียดบังเงินภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงิน 10,876.71 บาท โดยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงท้องที่ และนาง ก. ได้รับชำระเงินค้ำประกันสัญญาจ้างก่อสร้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำนวน 6,272 บาท โดยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินเช่นกัน และรวมเป็นจำนวนเงินที่ผู้ถูกกล่าวหารับไว้ทั้งสิ้น 17,148.71 บาท ซึ่งนาง ก. มีหน้าที่ต้องนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากกระแสรายวันขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่ผู้ถูกกล่าวหามิได้นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด กลับเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาง ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาลอันเป็นเหตุให้เสียหายราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2566
"การทุจริตนำรถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงของทางราชการไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง "
นาย ก. รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ทำบันทึกขออนุญาตใช้รถส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไปใช้ในราชการ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน และขอนำรถยนต์ไปเก็บไว้ที่บ้านพักส่วนตัว โดยมีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ข. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จำนำรถยนต์ประกันการกู้ยืมไว้กับเจ้าของร้านคาโอเกะแห่งหนึ่ง จนกระทั่งพนักงานขับรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มาพบเห็นว่ารถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจอดอยู่หน้าร้านคาราโอเกะ จึงสอบถามเจ้าของร้านได้ความว่านาย ข. นำมาจำนำ จึงแจ้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทราบเรื่อง ต่อมานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มอบเงินเพื่อไปไถ่ถอนรถดังกล่าว และในวันเดียวกันนาย ก. และภรรยา และนาย ข. ได้ร่วมกันแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า นาย ข. ได้ยืมรถยนต์ไปจากภรรยานาย ก. และรถยนต์ถูกคนร้ายลักไปแต่ข้อเท็จจริงคือนาย ข. นำไปจำนำ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 90 และ 91
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2566
"รับเงินโดยมิชอบทั้งที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบอยู่แล้ว"
นาย ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ทางทะเล และในขณะนั้นทางราชการได้มีโครงการจำหน่ายเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร โดยผู้จำหน่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องจะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ตรวจสอบว่าเรือบรรทุกน้ำมันของผู้ประกอบการที่มาจำหน่ายในเขตต่อเนื่องได้เดินทางไปถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่อง ของราชอาณาจักรด้วยความเรียบร้อยโดยมีน้ำมันครบหรือไม่ หากเรียบร้อยก็จะต้องลงนามในใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
ในงานสัมมนาเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผู้ประกอบการได้เสนอจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษต่อลำและต่อเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปกับเรือ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบ นาย ก. ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการ จึงได้ตกลงรับและดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ
การที่นาย ก. รับเงินจากผู้ประกอบการน้ำมัน และสั่งการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อตรวจความเรียบร้อย แม้จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ และมีการนำเงินไปจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง สมทบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจจริงก็ตาม แต่เป็นการรับเงินไว้โดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด อย่างหนึ่งในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบราชการอยู่แล้ว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2566
"รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม"
ศาลได้ขายทอดตลาดที่ดินให้กับผู้ซื้อรายหนึ่งในราคาสูงสุดคือ 897 ล้านบาท โดยผู้ซื้อได้วางเงินเป็นค่าซื้อทรัพย์จำนวน 70 ล้านบาทต่อศาลต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ไม่สามารถชำระเงินที่ค้างภายในกำหนดได้ หลังจากนั้นโจทย์และจำเลยได้ร้องขอถอนการยึด ศาลจึงได้คิดค่าธรรมเนียมถอนการยึดร้อยละ 3.5 ของราคาประเมินการยึด และได้ส่งเงินคืนมายังกรมบังคับคดี โดยระบุว่าผู้ซื้อทรัพย์วางเป็นค่าซื้อทรัพย์ไว้จำนวน 70 ล้านบาท และยังคงค้างที่ศาล โดยไม่หักค่าธรรมเนียมใดๆ และคู่ความขอให้ส่งมาให้กรมบังคับคดีหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่กรมบังคับคดีที่รับผิดชอบให้ความเห็นว่า ก่อนจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ให้คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 ของจำนวนที่ขายได้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ต่อมานาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดี ผู้รับผิดชอบในขณะนั้น ได้เรียกประชุมนิติกรระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และนาย ข. ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดีได้มีคำสั่งเห็นชอบให้เรียกประชุม ผลการประชุมมีมติว่า เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดซึ่งมีผลเท่ากับไม่มีการขาย จึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 ไม่ได้ หลังจากนั้นนาย ข. จึงมีคำสั่งเห็นชอบและให้เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีทราบทั่วกัน และจึงมีการคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาทโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขาดทอดตลาดร้อยละ 5 ซึ่งกรมบังคับคดีมีหน้าที่ต้องหักค่าธรรมเนียมการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 318 และมาตรา 319 จากเงินดังกล่าวก่อนจ่ายเงินที่เหลือให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงิน
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พบว่า ก่อนที่จะมีการสั่งคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาทดังกล่าวนั้น นาย ก. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหุ้นบริษัท จำนวน 10,000 หุ้นและได้ขายหุ้นดังกล่าวไปได้จำนวนเงิน 865,650 บาทหลังจากนั้นได้สั่งจ่ายเงินครึ่งหนึ่งให้แก่นาย ข. และปรากฏภายหลังว่าได้มีการส่งคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาทเข้าบัญชีของประธานกรรมการบริษัทผู้มอบหุ้นให้นาย ก. เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ซื้อที่ดินต่อจากผู้ซื้อที่ดินพิพาทอีกทอดหนึ่ง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. และนาย ข. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 154 และมาตรา 15
-----------------------------------
Infographic ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2566
"เรียกรับเงินจากผู้ขออนุญาตประกอบการขนส่ง เพื่อช่วยเหลือให้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถตู้ปรับอากาศ"
นาย ก. ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ขนส่ง 5 รักษาการหัวหน้าขนส่งจังหวัด ช. ได้ให้ความช่วยเหลือ นาย ข. ซึ่งประสงค์ที่จะนำรถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างอำเภอ โดยได้เรียกเงิน จำนวน 500,000 บาท เป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือให้ได้รับอนุญาตประกอบการและหากไม่ได้รับอนุญาตจะคืนเงินให้ทั้งหมด ทั้งที่นาย ก. ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบการขนส่ง นาย ข. เชื่อว่านาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกมีอำนาจหน้าที่สามารถช่วยเหลือได้ จึงตกลงยินยอมมอบเงินสดให้จำนวน 60,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีอีกจำนวน 440,000 บาท ต่อมา นาย ก. ได้ร่างหนังสือให้ นาย ข. เพื่อนำไปยื่นขออนุญาตประกอบการ และนำหนังสือดังกล่าวไปยื่นที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ช. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ โดยมีการนำเรื่องเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ช. เพื่อมีมติอนุมัติกำหนดเส้นทางโดยสารประจำทาง แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารสาย ช – ส มีหนังสือคัดค้านเนื่องจากจะเป็นการเดินรถทับซ้อนเส้นทาง คณะกรรมการ ฯ จึงมติให้รวบรวมข้อมูลแล้วนำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเส้นทางสาย ช - หให้เป็นเส้นทางรถโดยสารประจำทาง
หลังจากนั้น เมื่อนาย ข. ทราบว่านาย ก. ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน นาย ก. จึงยินยอมคืนเงินทั้งหมดให้ โดยนาย ก. ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123