Contrast
Font
067f586e34db8d49b3f9eb1ca792e233.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต‼️ ประจำเดือน มกราคม 2567

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1477

02/02/2567

Infographic ประจำวันที่ 3 มกราคม 2567

" เรียกรับเงินเพื่อแลกกับการได้รับสัญญาจ้างทางธุรกิจ "

นาง ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานระดับนานาชาติ 4 โครงการและโครงการจัดจ้างที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 21 รายการ ในจำนวนนี้ มีบริษัทที่เป็นคู่สัญญา  กับรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจของสองสามีภริยาชาวต่างชาติคู่หนึ่ง ได้รับการจัดจ้างจำนวน 16 รายการ โดยนาง ก. ได้เรียกรับสินบนจากสองสามีภริยา เพื่อแลกกับการได้รับสัญญาจ้างและสัญญาจ้างช่วง ที่มีผลตอบแทนสูงเพื่อประโยชน์ของธุรกิจของบุคคลทั้งสอง ภายหลังจากที่สองสามีภริยาได้รับเงินจากการทำสัญญาว่าจ้างแล้ว จะจ่ายเงินให้กับ นาง ก. เป็นแคชเชียร์เช็คหรือการโอนเงินระหว่างประเทศ ไปยังบัญชีในนามของ นางสาว ข. บุตรสาวหรือเพื่อนของนาง ก. ในธนาคารที่อยู่ต่างประเทศ บางครั้งได้จ่ายเป็นเงินสดให้นาง ก. โดยตรง ซึ่งภายหลังจากที่นาง ก. ได้พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดไปแล้ว ยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ก็ได้ให้การช่วยเหลือสองสามีภริยาอย่างต่อเนื่องในการได้รับและคงไว้ซึ่งธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ รวมทั้งได้รับเงินคงค้างที่ถึงกำหนดจ่าย ทั้งนี้ปรากฏพยานหลักฐานว่า มีการฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาว ข. จำนวนหลายครั้งตั้งแต่ปี 2545 – 2549

จากพฤติการณ์ที่นางสาว ข. ร่วมรู้เห็นในการกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ของนาง ก. และยังมีพฤติการณ์เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อให้มีการส่งเงินสินบนผ่านบัญชีเพื่อประโยชน์ของนาง ก. โดยทุจริต จึงฟังได้ว่านางสาว ข. บุตรสาวนาง ก. มีพฤติการณ์รู้เห็นเป็นใจในการที่นาง ก. กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ข้างต้นด้วย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาง ก. มีมูลเป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และการกระทำของ นางสาว ข. มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าว

-------

Infographic ประจำวันที่ 5 มกราคม 2567

"เรียกรับเงินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดิน"

นาง ก. เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน มีหน้าที่พิจารณาคำขอตรวจหลักฐานทางทะเบียนและเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิและนิติกรรมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับคำสั่งให้อยู่เวรทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และแจกบัตรคิว แต่นาง ก. ได้รับเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดินรายหนึ่งไว้ดำเนินการเองและได้เรียกรับเงินจำนวน 10,000 บาท จากผู้ขายที่ดินเป็นค่าดำเนินการ พร้อมทั้งเงินอีกจำนวน 45,112 บาท นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรตามใบเสร็จรับเงิน นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของ นาง ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง สำหรับความผิดทางอาญา เห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาได้
-------

Infographic ประจำวันที่ 8 มกราคม 2567

วันนี้พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบเกี่ยวกับเรื่อง การบริจาคหรือให้สิ่งของเกินกว่าสามพันบาทของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถบริจาคเงินหรือให้สิ่งของเกินกว่าสามพันบาท ได้หรือไม่?"

A: ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะบริจาคเงินหรือสิ่งของซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าสามพันบาทได้หรือไม่นั้น กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ การบริจาคหรือให้สิ่งของเกินกว่าสามพันบาทแก่องค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลทั่วไปก็อาจกระทำได้ หากการให้หรือการบริจาคนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่การจะบริจาคเงินหรือสิ่งของซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าสามพันบาทให้กับเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกำหนดห้ามมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าสามพันบาทนั้น อาจเข้าข่ายเป็นความผิดของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้กระทำ ซึ่งการที่จะพิจารณาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถบริจาคเงินหรือสิ่งของซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าสามพันบาทได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและองค์ประกอบของกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยและต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นเป็นรายกรณีไป

-------

Infographic ประจำวันที่ 10 มกราคม 2567

"การพิจารณาส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อประโยชน์ของเอกชน"

บริษัท A ได้ทำเรื่องขออนุญาตเพื่อขอให้ส่งสัตว์ป่าซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองไปยังสวนสัตว์สาธารณะในต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อกิจการเพาะพันธุ์หรือกิจการสวนสัตว์สาธารณะ และขอให้กระทำในนามของกรมป่าไม้ ต่อมานาย ก. ในฐานะอธิบดีกรมป่าไม้ และนาย ข. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ได้ร่วมกันพิจารณาอนุญาตตามที่บริษัท A ร้องขอ โดยนาย ก. ได้ลงนามอนุญาต

การกระทำดังกล่าวเป็นการขออนุญาตส่งออกเพื่อประโยชน์ในกิจการสวนสัตว์สาธารณะของบริษัทเอกชนมิใช่เป็นการเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะซึ่งกระทำโดยทางราชการ จึงเป็นการกระทำที่เอื้อให้กับบริษัท A ได้รับประโยชน์จากการส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง อันเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 23 และมาตรา 26 เนื่องจากได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษา และวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาย ก. และนาย ข. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

-------

Infographic ประจำวันที่ 12 มกราคม 2567

"เอื้อประโยชน์ในการจำหน่ายสินทรัพย์โดยมิชอบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี"

นาย ก. ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ได้มีหนังสือขยายกำหนดระยะเวลาให้บริษัท A ผู้ชนะ  การประมูล แจ้งรายชื่อให้ผู้อื่นลงนามในสัญญาขายมาตรฐานแทน โดยไม่นำเสนอต่อคณะกรรมการและไม่เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งยินยอมให้กองทุน B เป็นผู้รับโอนสิทธิจากบริษัท A โดยให้กองทุน B ลงนามในสัญญาขายสินทรัพย์แทน ทั้งที่ทราบว่าบริษัท A แจ้งรายชื่อกองทุน B เป็นผู้ทำสัญญาแทนเกินกำหนด 5 วันทำการ นับจากวันประมูล และทราบว่าในวันแจ้งรายชื่อผู้ลงนามในสัญญาขายมาตรฐานแทน บริษัท A ไม่ได้ยื่นสำเนาหนังสือรับรองการจัดตั้งกองทุนและจดหมายอนุมัติการจัดตั้งกองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหลักฐานประกอบตามที่กำหนดในข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ทั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท A หลุดพ้นภาระทางภาษี เนื่องจากบริษัท A หากเข้าทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับหน่วยงานโดยตรงแล้ว ต่อมาขายสินทรัพย์นั้นต่อไปให้บริษัทอื่น บริษัท A จะต้องเสียภาษีทุกประเภทที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย จึงยินยอมให้บริษัท A ไปจัดตั้งกองทุน B ให้เสร็จสิ้นและเข้าทำสัญญาแทน ทันตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากกองทุน B ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีอากร

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การกระทำของนาย ข. มีมูลเป็นความผิดทางวินัย ตามข้อบังคับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2540 หมวด 4 ข้อ 17 และข้อ 23 และมีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

-------

Infographic ประจำวันที่ 15 มกราคม 2567

วันนี้กลับมาพบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีส่วนได้เสียในกิจการของบริษัท ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: แนวทางในการกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐ และสัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าพนักงานของรัฐตามความในมาตรา 126 กรณียังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียด บุคลากรของมหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินกิจการดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร

A:  การกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐ และสัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าพนักงานของรัฐตามความในมาตรา 126 มิได้กำหนดตำแหน่งใดของบุคลากรมหาวิทยาลัยไว้ ดังนั้นจึงยังไม่มีตำแหน่งที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการ ตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

ส่วนกรณีบุคลากรของมหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินกิจการดังกล่าวได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาการแต่งตั้ง คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นรายกรณีไป

-------

Infographic ประจำวันที่ 17 มกราคม 2567

"จัดสัมมนาโครงการอันเป็นเท็จ"

หน่วยงาน A โดยนาง ก. ผู้บริหารสูงสุด ได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนาเพื่อขอรับผ้ากฐินประจำปี ไปถวายพระสงฆ์ในจังหวัดหนึ่งและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการมีนางสาว ข. เป็นประธานและนาย ค. เป็นรองประธาน ซึ่งทั้งสองมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงาน A โดยให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงาน  ต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินงานกฐินดังกล่าวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อมานาย ค. ได้ขออนุมัติจัดโครงการสัมมนา โดยนาง ก. เป็นผู้ลงนามอนุมัติ และมีการหารือกันเกี่ยวกับการจัดสัมมนาระหว่าง นาง ก. ผู้บริหารสูงสุดนางสาว ข. นาย ค. และนาย ง. ซึ่งทั้ง 3 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในหน่วยงาน A ได้พิจารณาร่วมกันแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน

เมื่อถึงวันกำหนดการ ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมสัมมนาและผู้สังเกตการณ์ได้เดินทางเข้าร่วมงานถวายผ้ากฐิน   ตามกำหนดการ พิธีแล้วเสร็จประมาณ 16.00 น. จากนั้นได้เดินทางไปยังสถานที่จัดสัมมนาซึ่งมีการตกแต่งสถานที่รองรับผู้เข้าร่วมสัมมนา มีการจัดเวที เขียนป้ายบนเวทีที่มิได้มีข้อความระบุว่ามีการสัมมนา แต่กลับมีข้อความเกี่ยวกับการต้อนรับ นาง ก. และคณะ มีการจัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีนหันหน้าเข้าหากันแต่ละโต๊ะนั่งประมาณ 9 – 10 คนเมื่อผู้เข้ารับการสัมมนามาถึงสถานที่จัดสัมมนา จะมีการลงทะเบียนตามรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อตามกำหนดการ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน A ที่รับลงทะเบียนหน้าสถานที่  จัดงานไม่มีการแจกเอกสารในการสัมมนาหรือกำหนดกลุ่มให้ระดมความคิดเห็นแต่ประการใด

จากการไต่สวนฟังได้ว่า การจัดสัมมนาในหัวข้อตามกำหนดการ ไม่มีการสรุปผลการสัมมนาเป็นเอกสาร  แต่อย่างใด โดยปกติการจัดสัมมนา หากมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากร เทคนิคการนำเสนอ และสถานที่รวมทั้งงบประมาณจะต้องทำการเสนอขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งการที่หน่วยงาน A ขอรับผ้ากฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา แต่ยังมีการจัดสัมมนาในวันเวลาเดียวกัน มีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานกฐินเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมสัมมนา ย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานไปถวายผ้ากฐินโดยจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการได้โดยมิชอบ

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

1) กรณีการกระทำของนาง ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

2) กรณีการกระทำของนาย ค. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมีมูลความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3) กรณีการกระทำของ นางสาว ข. และนาย ง. เมื่อครั้งที่ทั้งคู่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไม่มีหน้าที่ในการจัดสัมมนาดังกล่าว พฤติการณ์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยังฟังไม่ได้ว่าได้ร่วมกระทำผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป

-------

Infographic ประจำวันที่ 22 มกราคม 2567

วันนี้กลับมาพบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งกรรมการของธนาคารมาแล้วไม่ถึงสองปี ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่าสามพันบาท จะต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงต่อบุคคลใด??

A: ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๗ กำหนดให้การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่า  ที่กำหนดไว้ฯ ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐได้รับมาโดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพหรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงต่อหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบัน หรือองค์กรที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่

หากผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคารที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมาโดยฝ่าฝืนตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจะต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน กรณีดังกล่าวต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการ ว่าเป็นอำนาจของบุคคลใดที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยในการรับทรัพย์สินดังกล่าว โดยหลักเกณฑ์ข้างต้นใช้บังคับกับผู้ซึ่งพันจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วไม่ถึงสองปี ตามความในข้อ ๘ ด้วย

-------

Infographic ประจำวันที่ 24 มกราคม 2567

วันนี้กลับมาพบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีการจ้างเหมาบริการบุตรของสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: เทศบาลได้ดำเนินการจ้างเหมาบุตรของสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 3 ราย เพื่อปฏิบัติงานในสำนักงานเทศบาล เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือไม่??

A: การดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาะบริการบุตรของสมาขิกสภาเทศบาลเพื่อปฏิบัติงานในสำนักงานเทศบาล ไม่อยู่ในเงื่อนไขบทบัญญัติแห่งกฏหมายตามมาตรา 126(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ ในการดำเนินการจ้างเหมาบริการดังกล่าว จำต้องพิจารณาบทบัญญัติของกฏหมายและระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจะพิจารณาว่าการดำเนินการนั้นชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ อย่างไร เทศบาลในฐานผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของงบประมาณย่อมมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นถูกต้องและชอบด้วยกฏหมายหรือไม่

ชม INFOGRAPHIC กฏหมาย ป.ป.ช. มาตรา 126 ได้ที่ : https://www.nacc.go.th/.../2021110415414676/20221010103500?

-------

Infographic ประจำวันที่ 29 มกราคม 2567

วันนี้กลับมาพบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีการโอนขายหุ้นบริษัทให้กับบุคคลอื่นและให้ความช่วยเหลือกับบุคคลที่รับซื้อหุ้นที่ได้รับความเดือดร้อนในลักษณะให้โดยเสน่หา ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: การโอนขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเอกชนให้บุคคลอื่นและให้ความช่วยเหลือกับบุคคลที่รับซื้อหุ้นที่ได้รับความเดือดร้อนในลักษณะให้โดยเสน่หา สามารถทำได้หรือไม่??

A: ตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กำหนดห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งมิได้กำหนดห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลใด อย่างไรก็ตาม การที่ผู้รับจะรับทรัพย์สินได้หรือไม่ประการใดเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาถึงสถานะของผู้รับ หากเป็นการให้โดยเสน่หากับเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกำหนดห้ามมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้กระทำซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป

-------

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีรองผู้บริหารท้องถิ่นเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q: บุคคลที่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท สามารถแต่งตั้งเป็นรองผู้บริหารท้องถิ่นได้หรือไม่ ??

A: ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 พ.ศ. 2563 กำหนดห้ามเฉพาะตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องห้ามมิให้ตำเนินกิจการตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ไม่รวมถึงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น แต่ประการใด

สำหรับประเด็นที่ว่าบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท จะสามารถแต่งตั้งเป็นรองผู้บริหารท้องถิ่นได้หรือไม่นั้น ประเด็นข้อกฎหมายนี้ต้องพิจารณาในส่วนคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้รักษาการตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่จะเป็นผู้พิจารณาตอบข้อหารือดังกล่าว

Related