จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 248
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 24 เมษายน 2561
ความเป็นมา
การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากมีพฤติกรรมในทางทุจริตหรือกระทำการทุจริตตามที่กฎหมายบัญญัติ และทำให้บุคคลดังกล่าวไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นได้อีก เป็นการป้องกันมิให้บุคคลซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มาปฏิบัติหน้าที่อาศัยตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ดังกล่าวแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต หรือกระทำการอันต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่าเป็นการลงโทษทางจริยธรรมอย่างสูงสุด แต่ด้วยเหตุที่การดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ในปัจจุบันอาจมีข้อจำกัด หรือขาดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย
ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 252 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย”
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการบังคับใช้ กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรเสนอมาตรการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากมีพฤติกรรมในทางทุจริต ดังนี้
ข้อเสนอแนะ
1) ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อมูลรายงานเอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น โดยมอบหมายนายอำเภอ หรือผู้วาราชการจังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือนำผลการสอบสวนดังกล่าวไปสู่การดำเนินคดีในทางอาญาหรือทางแพ่งต่อไป ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานผลการสอบสวนหรือสำเนาคำสั่งลงโทษให้สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
2) พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติระเบียบบริหาร ราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยเพิ่มบทบัญญัติ “การไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต” กำหนดเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกตำแหน่งเช่นเดียวกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาข้อมูลตามรายงาน เอกสาร พร้อมทั้ง ความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น นำมาประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
1) กำหนดให้สำนักไต่สวนการทุจริต ถือเป็นแนวทางปฏิบัติกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น ให้ส่งรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการสอบสวนหรือสำเนาคำสั่งลงโทษให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ
ทั้งนี้ ให้ใช้เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
2) รวบรวมข้อมูลรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้มีมติ ชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นทั้งหมด และนำส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณามอบหมายนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และนำส่งข้อมูล ดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งต่อไป พร้อมกับให้มีการติดตามผลการดำเนินการดังกล่าว
3) พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีบทบัญญัติในการดำเนินการต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งไม่มีโทษทางวินัย เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด สามารถดำเนินการทางวินัย หรืออยู่ในบังคับมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๒๓๔ (๑) และมาตรา ๒๓๕ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีผลทำให้บุคคลดังกล่าวไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก
มติคณะรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มองหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่อง มาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากมีพฤติกรรมในทางทุจริต ของคณะกรรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมา กระทรวงมหาดไทยได้เสนอผลการพิจารณาข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 รับทราบผลการพิจารณาข้องเสนอแนะเรื่อง มาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากมีพฤติกรรมในทางทุจริต ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามทที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ
รายละเอียดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 เมษายน 2561