จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 257
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 27 มีนาคม 2558
ความเป็นมา
สืบเนื่องจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 70/2557 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ พร้อมกับได้มีคาสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ คณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ รวมทั้งคณะทำงานติดติดตามตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยได้เคยเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ มีผลสืบเนื่องมาจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับการหลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต รู้เห็นเป็นใจ และเปิดช่องให้บริษัทจัดหางาน หลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งปล่อยให้มีการทุจริตเรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเกินความจริงและเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนและมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีนักการเมืองเป็นเจ้าของบริษัทจัดหางาน หรือมีตัวแทนเชิดเป็นเจ้าของแทนโดยใช้อิทธิพล อำนาจหน้าที่ ผูกขาดธุรกิจจัดหาแรงงาน นอกจากนี้ นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง มีการรับเงินจากบริษัทจัดหางาน ตลอดจนข้าราชการระดับปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทจัดหางานโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตดังกล่าว เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว และเป็นการซ้ำเติมประชาชนระดับรากหญ้าและเกษตรกรในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อันจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเห็นสมควรมีมาตรการเพื่อเป็นแนวทางป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการ ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ. ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ. ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ดังนี้
ข้อเสนอแนะ
1.1 รัฐบาลต้องตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์และให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง แรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเร่งรัดการปฏิบัติงานของคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครอง คนหางานเพื่อจัดทำนโยบายและมาตรการในการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ตลอดจนมาตรการในการป้องกันและปราบปรามกระบวนการหลอกลวงแรงงานไทยและการค้ามนุษย์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพโดยรัฐบาลจะต้องกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการในการปฏิบัติด้วย เช่น
1) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
2) กำหนดห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำของกระทรวงแรงงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจจัดหางาน เข้ามาดำเนินงานหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ จัดหางานทั้งทางตรงและทางอ้อม
3) สนับสนุนให้มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยระบบความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลมากขึ้น
4) มอบหมายให้หน่วยงานที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับ กระบวนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
5) ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการค้ามนุษย์ที่เป็นลักษณะของการค้าแรงงาน โดยกำหนดให้กรณีการค้าแรงงาน การหลอกลวงแรงงาน และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอย่างรุนแรงจากแรงงาน โดยเฉพาะการค้าแรงงานเด็กและสตรีถือเป็นการค้ามนุษย์และเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ และให้นำกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วย อาชญากรรมข้ามชาติมาใช้ในคดีที่มีการหลอกลวงแรงงานโดยเครือข่ายข้ามชาติ ตลอดจนประสานงานกับตำรวจสากล (Interpol) ในการดำเนินคดีกับผู้หลอกลวงเหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในการคุ้มครอง แรงงานด้วยกฎหมายไทย
1.2 ให้ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระบวนการจัดหางานอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเพิ่มบทลงโทษผู้หลอกลวงแรงงาน โดยพิจารณาเปรียบเทียบบทลงโทษของกฎหมายจัดหางานกับกฎหมายการค้ามนุษย์ให้ใกล้เคียงกัน
1.3 เห็นสมควรให้คณะกรรมการคดีพิเศษ รับเอาคดีการหลอกลวงแรงงานไทยและการค้ามนุษย์ซึ่งผู้กระทำความผิดมีอิทธิพลโยงใยเป็นเครือข่ายซับซ้อนเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่จะดำเนินการได้และมีความเชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ามนุษย์ข้ามชาติไปพิจารณาเป็นคดีพิเศษ
1.4 เร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหางานและการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ให้ทันกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของคนงานไทย และป้องกันการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากกระบวนการจัดหางาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1) ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในต่างประเทศ มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดการให้คนหางานที่ไม่ได้งานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน เดินทางกลับ หรือหางานใหม่ให้ตรงตามความต้องการของคนหางาน
2) ให้ภาระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการต้องส่งคนหางานกลับประเทศ เนื่องจากได้งานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ให้แบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นสองส่วนเท่ากัน กึ่งหนึ่งมาจากกองทุน ช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ อีกกึ่งหนึ่งให้เป็นภาระของผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางาน ทำงานในต่างประเทศ เพื่อกำหนดบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ชัดเจน
3) ให้มีคณะกรรมการกลาง ประกอบด้วย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสมาคมจัดหางาน และผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เหมาะสม ทำหน้าที่กลั่นกรอง คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดหางาน โดยเมื่อคณะกรรมการกลางดังกล่าวได้พิจารณาแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันยุติ เว้นแต่กรณีไม่อนุญาต ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หากในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลที่ยื่นอุทธรณ์หรือในเรื่องที่อุทธรณ์ ให้รัฐมนตรีงดการพิจารณา และให้ผู้อื่นเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์แทน และในการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้เสนอความเห็น นอกจากนี้ ในกรณีมีข้อพิพาท การฟ้อง หรือการขึ้นบัญชีดำบริษัทจัดหางาน และการพิจารณาโทษ เช่น การพักใช้ใบอนุญาตจัดหางาน หรือการเพิกถอนใบอนุญาตจัดหางาน ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ในการพิจารณาและมีคาสั่ง
1.5 ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ให้มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นที่เหมาะสม ตลอดจนตัวแทนจากภาคประชาสังคม เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามดูแลการดำเนินงานและวิเคราะห์การใช้เงินกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และทบทวนกิจการที่ใช้เงินจากกองทุนนี้เพื่อเป้าหมายเชิงรุกมากขึ้น ตลอดจนติดตามรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.1 เร่งกำหนดนโยบายและปรับโครงสร้างการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับพันธกรณี ภายใต้ AEC รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกำหนดมาตรการคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อความเหมาะสมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเสริมสร้างสมรรถนะความสามารถในด้านการแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อบังคับเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานไทย เช่น กำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจของนักลงทุนต่างประเทศ
2.2 ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีบทบาท หน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ด้านการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงาน ประสานและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาหอการค้าและหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อม รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558
2.3 จัดตั้งสานักงานแรงงานไทยในประเทศอาเซียน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มอาชีพที่โยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศให้ปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถูกต้องตามกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นของประเทศ สมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยหาวิธีการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานมีฝีมือที่มีคุณภาพ เป็นคนดีและคนเก่งให้ทำงานอยู่ในประเทศ ป้องกันปัญหาสมองไหลไปสู่องค์การ ของต่างประเทศและป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งจากองค์กรภายในและองค์กร ภายนอกประเทศ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงแรงงานมีฝีมือในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ให้เท่าเทียมนานาประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมทั้งเร่งพัฒนาทักษะด้านฝีมือแรงงานไทยให้สามารถรองรับและสอดคล้องกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรม การใช้เครื่องจักรกลและคอมพิวเตอร์สารสนเทศ
2.4 ควรดำเนินการวางแผนและจัดทำระบบการนำเข้าและส่งออกแรงงานที่ดีเพื่อความ สมดุลและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานระดับชาติ การจัดอบรมด้านภาษา การให้โอกาสในการฝึกอบรมแก่นายจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การจัดอบรมทางวิชาชีพ การรับเรื่องร้องทุกข์ และการจัดกลไกการเยียวยา แก่ผู้มีปัญหาด้านแรงงาน ตลอดจนจัดให้มีการรวมกลุ่มของแรงงานย้ายถิ่นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
2.5 ให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทางของบุคลากรในประเทศ โดยพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้ได้มากขึ้น และส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษ ฝึกให้เกิด ความเคยชินในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียน การสอน เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะด้านภาษาภาษาอังกฤษ และภาษาที่ใช้ในอาเซียนให้กับ นักศึกษาเพิ่มเติม
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือ เมื่อวันที่ 20 และ 22 มกราคม 2558 เพื่อพิจารณาดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 และให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ