จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 306
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 11 กันยายน 2555
ความเป็นมาและสภาพปัญหา
ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเห็นว่า ปัญหาการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เป็นที่สนใจของสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อมีการเสนอข่าวจากสื่อมวลชน “เรื่องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการอนุมัติประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู” โดยพบว่า มีผู้ที่ได้รับการอนุมัติจบหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง มีการจ่ายเงินค่าบำรุงการศึกษา แต่มิได้มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรจริง หรือในบางกรณี สถานศึกษาได้มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร แต่นักศึกษามิได้มีการฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนจริง (การฝึกสอน) ตามข้อกำหนดของมาตรฐานว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับรองประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีปัญหาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อเยาวชนและสังคมในวงกว้าง เนื่องจากคุณภาพของ “ครู” เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา และเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศ หากคุณภาพของความเป็นครูไม่ได้มาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนด และประพฤติผิด ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ขาดจิตสำนึกในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต อาจส่งผลต่อคุณภาพของเยาวชนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้มีการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุ ช่องทาง หรือช่องว่างที่เอื้อให้เกิดปัญหาการทุจริตซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกรณีดังกล่าว
สาเหตุสำคัญของปัญหาการทุจริตซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เกิดจากปัจจัย สำคัญ ดังนี้
1. กระบวนการบริหารงานของหน่วยงาน/องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม ควบคุม และตรวจสอบมาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ได้แก่ 1) คุรุสภา 2) สภามหาวิทยาลัย 3) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ควบคุม ติดตามและตรวจสอบคุณภาพทางการศึกษาที่มิได้มีการ ตรวจสอบควบคุมอย่างเคร่งครัด จึงทำให้มีช่องว่างก่อให้เกิดปัญหาการซื้อขายประกาศนียบัตรวิชาชีพครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วย การควบคุม กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล พบว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมิได้ปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จนทำให้เกิด ปัญหาในด้านการบริหารจัดการด้วยการอาศัยช่องว่างหรือช่องทางที่กฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการได้ไปทำการ แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
2. คุณธรรมและจริยธรรมของหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
1) คุณธรรมและจริยธรรมของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล ปัญหาจากกรณีศึกษาอาจใช้ เป็นต้นแบบในการกำหนดคุณสมบัติของบุคคล ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของหลักสูตรหรือโครงการต่าง ๆ ไม่ควรจะเข้าไปทำหน้าที่หรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์กับองค์กรที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างมีนัยสำคัญเป็นการส่วนตัวหรือเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น จึงควรกำหนดกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ว่ามีข้อกำหนดหรือมีข้อห้ามเกี่ยวกับจรรยาบรรณและการดำเนินการ
ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน
2) คุณธรรมและจริยธรรมของกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารสถานศึกษา (ในฐานะ ผู้ขาย) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษา จะเห็นว่ากรณีการทุจริตของมหาวิทยาลัยอีสาน มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับ กรณีทุจริต คือ 1) การเปิดศูนย์นอกสถานที่ตั้งโดยไม่ผ่านการรับรองและอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย 2) มีการ สอดแทรกรายชื่อนักศึกษาที่ไม่จบตามหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนการศึกษา ให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 3) มีการแจ้งรายชื่อนักศึกษาเข้ามาเพิ่มเติม โดยไม่ได้ผ่านการรับรองและอนุมัติให้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
จากสภามหาวิทยาลัย
3) คุณธรรมและจริยธรรมของผู้ต้องการใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ในฐานะผู้ซื้อ) จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า “ค่านิยม” “แรงจูงใจ” และ “ความต้องการ” ของสังคมในปัจจุบัน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำให้เกิดกระบวนการของการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จึงทำให้ผู้ต้องการใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแสวงหาหนทางโดยวิธีการต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยไม่สนใจว่าวิธีการนั้นจะถูกหรือผิด จึงยอมที่จะจ่ายเงินซื้อใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูเพื่อให้ได้ใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครู และประกอบอาชีพครูตามที่ต้องการ
3. ผลกระทบที่เกิดจากกฎหมาย ตามที่กฎหมายกำหนดให้ “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม ผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภา จึงจะมีสิทธิประกอบวิชาชีพครูได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะเป็นหลักประกันความมีมาตรฐานและคุณภาพของการประกอบวิชาชีพและเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ข้าราชการครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง จึงเป็นแรงจูงใจ อย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพครูอยู่แล้วและผู้ที่ต้องการจะประกอบอาชีพครู ต้องพยายามทำให้ตัวเอง มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีสิทธิที่จะได้รับใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครู จึงเป็นที่มาและสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตซื้อขายประกาศนียบัตร บัณฑิตวิชาชีพครู
ข้อเสนอแนะ
จากสาเหตุของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการซื้อขายประกาศนียบัตร บัณฑิตวิชาชีพครู ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะต่อคุรุสภา
1) ให้สถาบันอุดมศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูได้ต้องเป็น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเท่านั้น หากเป็นสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกและรับรองมาตรฐานจากคุรุสภาเท่านั้น ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษานั้นจะต้องมีคณะศึกษาศาสตร์ หรือคณะครุศาสตร์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีด้วย
2) ให้คุรุสภากำหนดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูให้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ของสถาบันอุดมศึกษา โดยไม่ต้องให้มีการปรับเพิ่มรายวิชาหรือหน่วยกิต ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพิ่มขึ้น
3) คุรุสภาควรปรับบทบาทหน้าที่โดยเน้นการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพิ่มบทบาทในเรื่องของการควบคุม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตร บัณฑิตวิชาชีพครูของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง และทบทวนเรื่องการรับรองคุณภาพ ของสถาบันการศึกษาที่ผลิตครู โดยจะต้องดำเนินการจัดระบบการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา
4) คุรุสภาควรพิจารณาปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ตลอดจนปรับปรุงเงื่อนไขและข้อกำหนดใหม่ โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่สถาบันการศึกษา จะเสนอให้คุรุสภารับรองเพื่อขอออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทางการศึกษา โดยกำหนดให้ต้องยื่นขอรับการประเมินหลักสูตร เพื่อให้คุรุสภาพิจารณาและรับรอง ก่อนที่จะ เปิดรับนักศึกษา และควรกำหนดระยะเวลาการรับรองปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อให้ สถาบันการศึกษามีการปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาตลอดเวลา
5) คุรุสภาควรพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา จรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณและการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู เพื่อเป็นการยกเครื่อง และพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะเงื่อนไขและข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่เฉพาะเจาะจงวิชาเอกที่จะทำการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ของผู้สอน มิใช่สามารถสอนได้ครอบคลุมทุกวิชา ควรกำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพครูระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามวิชาเอก โดยครูจะต้องสอนตรงตามวิชาเอกที่ได้รับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามคุณวุฒิการศึกษา ซึ่งจะทำให้การสอนของครูมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะครู จะเชี่ยวชาญและมีความรู้จริงในสาขาวิชาที่ได้ศึกษามา
6) ให้คุรุสภาและผู้บริหารสถานศึกษา กำกับ ดูแล ควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติตนของครู ให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด หากครู ประพฤติเสื่อมเสีย ผิดจรรยาบรรณตามมาตรฐานการปฏิบัติที่กำหนดไว้ และมีพยานหลักฐานแน่ชัด คุรุสภาต้องพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทันที เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
7) คุรุสภาควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ทั้งในและนอกสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษา อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงาน รับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมีบทบาทสำคัญ ซึ่งมีบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู โดยเฉพาะกระบวนการกำกับ ติดตาม และประเมินผล
8) ให้คุรุสภาจัดตั้งคณะกรรมการกลาง โดยบูรณาการบุคลากร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเป็นคณะกรรมการกลาง อาทิ คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) คณาจารย์ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงด้านการศึกษาและการบริหาร ฯลฯ ทำหน้าที่ในการกำหนดเกณฑ์ การทดสอบเพื่อวัดความรู้และสมรรถนะในการประกอบวิชาชีพครู ตลอดจนการวิเคราะห์สภาพจิตใจ สภาวะและ ความพร้อมในการประกอบวิชาชีพครู โดยประเมินจากการสอบข้อเขียนและการสัมภาษณ์ ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นอกจากจะผ่านการเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูแล้ว ต้องผ่าน การทดสอบเพื่อประเมินสมรรถนะในการประกอบวิชาชีพครูก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการสอบประเมินหรือการเข้ารับ การอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพจากสถาบันศึกษาศาสตร์หรือคุรุศาสตร์ที่คุรุสภา รับรอง ทั้งนี้ คุรุสภาก็ควรจะประสานงานกับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อพิจารณาให้ค่าตอบแทนแก่ครูที่ได้พัฒนาตนเองตามแนวทางของคุรุสภาด้วย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ในการทำงาน
2. ข้อเสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัย
1) สภามหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทสำคัญและรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูของสถาบันอุดมศึกษาอย่างเคร่งครัด โดยไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยโดยตรง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา ในฐานะหน่วยผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ
2) สภามหาวิทยาลัยต้องรายงานผลการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร บัณฑิตวิชาชีพครูนอกสถานที่ตั้ง ให้คุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทราบ เป็นระยะๆ และกำหนดให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) นอกจากจะมี การประเมินคุณภาพตามหลักเกณฑ์ปกติแล้ว สมศ. ควรกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการประเมินศูนย์นอกสถานที่ตั้ง ที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูเป็นกรณีพิเศษด้วย
3. ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
1) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรมีบทบาทในการกำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ต่อเนื่องและจริงจัง
2) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนดให้มีการสร้างความรู้และความตระหนักต่อภารกิจ และความรับผิดชอบของนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาสถาบันอุดมศึกษาก่อนการเข้ารับตำแหน่ง
3) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนดจำนวนแห่ง และระยะเวลาในการ ดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ คนละไม่เกิน 2 แห่ง และไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
4) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปรับปรุงระบบและวิธีการสรรหาหรือคัดเลือก กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา โดยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเลือกมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒินั้น ให้มีการระบุคุณสมบัติต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่จะขึ้นบัญชีต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย และให้มีการเปิดเผยบัญชีรายชื่อต่อสาธารณะ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการของมหาวิทยาลัย
4. ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบาย (รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ)
1) ทบทวนแนวความคิดในการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาสำหรับผลิตบัณฑิตเพื่อประกอบ วิชาชีพครูหรือบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะ เนื่องจาก “วิชาชีพครู” เป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องการบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ ในการประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ประพฤติและปฏิบัติตนดี เพื่อดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรี แห่งวิชาชีพครูให้สมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากสังคม
2) เร่งดำเนินโครงการผลิตครูคุณภาพอย่างจริงจัง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชน ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและจริยธรรม ให้สมัครเข้าเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะ ประกอบวิชาชีพครูในอนาคต โดยใช้ระบบการคัดเลือกโดยวิธีพิเศษ และสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพครู เช่น การเพิ่มอัตราค่าตอบแทนการทำงานให้เทียบเท่าวิชาชีพแพทย์ ตุลาการ อัยการ ฯลฯ เพื่อดึงเยาวชน และ คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ มาเสริมสร้างสำนึกและจิตวิญญาณของความเป็นครู เพื่อให้ได้ครู ที่มีความรู้ มีคุณธรรมและจริยธรรม เหมาะสมที่จะเป็นแม่พิมพ์ของชาติได้อย่างแท้จริง
3) การกำหนดหลักเกณฑ์ รูปแบบ และวิธีการ ในการประเมินผลคุณภาพการปฏิบัติงานของครู ให้มีมาตรฐานเดียวกัน มีลักษณะเฉพาะ และเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหลายมิติ โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพครู โดยใช้การประเมินเชิงประจักษ์ ที่อิงขีดความสามารถและวัดผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาเป็นหลัก เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาเลื่อนระดับ และค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติ
4) หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศทุกระดับ ควรสร้าง ค่านิยมที่ถูกต้องให้กับสังคม เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพครู ถือเป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ครูต้องมีความรู้ดี มีคุณธรรมจริยธรรม และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ อบรม สั่งสอนให้ความรู้ และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ครูจะต้องมี อุดมการณ์ และความเสียสละมากกว่าที่จะให้ความสำคัญแต่เฉพาะค่าตอบแทน หรือเงินวิทยาฐานะที่เพิ่มขึ้น
5) รัฐควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษา ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้เหมาะสม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเอกชนมีเงินทุนบริหารจัดการในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนเป็นสำคัญ มากกว่ามุ่งเน้นการแสวงหา ผลประโยชน์หรือกำไรในเชิงธุรกิจ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วจึงเห็นสมควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังกล่าวข้างต้นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนโครงการของส่วนราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามนัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11)
มติคณะรัฐมนตรี
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภา จึงจะมีสิทธิประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์หรือมีการทุจริตเกี่ยวกับการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการจึงขอรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สภามหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา คณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในเรื่องดังกล่าวต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วลงมติว่า
1. รับทราบข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ
2. เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย
ความเห็นของหน่วยงาน :
กระทรวงการคลัง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานประมาณ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กระทรวงยุติธรรม