จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 419
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 19 มิถุนายน 2555
ความเป็นมา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการศึกษา ติดตาม และเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการจำนำข้าวเปลือกอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยได้เชิญผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวและส่งออก มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาจากพฤติการณ์ที่ปรากฏต่อสาธารณะทางสื่อมวลชนต่าง ๆ แล้วพบว่าการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือก ยังคงก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ อย่างมากมายดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตทั้งในเชิงนโยบาย และในส่วนของขั้นตอน และกระบวนการในการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังคงต้องดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปเนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่สำคัญซึ่งได้หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงต่อรัฐสภา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบังเกิดประโยชน์และเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริต รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้เกิดความสูญเสียด้านงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือกต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2554 ดังนี้
ข้อเสนอแนะ
1. การดำเนินการตามนโยบายยกระดับราคาข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรได้พิจารณา ดังนี้
1) กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และไม่บิดเบือนกลไกตลาด
2) ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว
2 การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
(1) การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร
1) นอกเหนือจากการกำหนดให้มีกระบวนการทำประชาคม และให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองเกษตรกรแล้ว ให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเพราะปลูกข้าวจริงและสุจริตเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล
2) กำหนดให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสมและจริงจังกับเกษตรกรที่ไม่สุจริต
(2) การระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล
1) เพื่อไม่ให้เข้าที่ได้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/55 ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก อันมีผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานาน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนัก และเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงสมควรมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ การปิดบัญชีโครงการฯ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาโดยเร็วและต่อเนื่อง
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการระบาย หรือจำหน่ายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางซึ่งอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแต่บุคคลทั่วไป แล้วดำเนินการด้วยความโปร่งใส
3) การติดตามและประเมินผลโครงการ
ให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการฯ อยากเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ แล้วนำมาพัฒนา ปรับปรุง จะแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
มติคณะรัฐมนตรี
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรียืนยันว่า การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการยกระดับราคาพืชผล
ทางการเกษตร รวมทั้งเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในชนบทตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาทุกประการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมีมาตรการและกลไกในการควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบการตรวจสอบให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) สั่งการให้หน่วยงานในกำกับ ดำเนินการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ให้ความร่วมมือ หากตรวจสอบพบกรณีทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ความเห็นของหน่วยงาน :
กระทรวงมหาดไทย
กระทรวงการคลัง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงบประมาณ
กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์