Contrast
banner_default_3.jpg

การแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 288

18/12/2563

การแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ :

ศึกษากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ [1]

         

                   การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจากอดีตที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2492 หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 วิธีการดำเนินการเป็นระบบควบคุมของฝ่ายบริหาร โดยหัวหน้าของฝ่ายบริหารมีโอกาสพิจารณากลั่นกรอง จึงไม่มีลักษณะบังคับเด็ดขาดเหมือนคำวินิจฉัยของศาล แม้จะมีการตรากฎหมายและมีการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต แต่การดำเนินการตรวจสอบการทุจริตก็ยังไม่เป็นระบบ ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตยังเป็นองค์กรที่สังกัดอยู่ในฝ่ายบริหารไม่มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน

                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 จึงกำหนดให้มีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ องค์กรตรวจสอบที่เป็นศาล และองค์กรตรวจสอบที่มิใช่ศาล

                   องค์กรตรวจสอบที่เป็นศาล ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มิใช่ศาล ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน 

                   การแทรกแซงความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจดำเนินการได้รูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแทรกแซงว่าเปิดโอกาสให้ดำเนินการแทรกแซงได้ในรูปแบบใด  ได้บ้าง เช่น หลังจากผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาแล้วยังต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากวุฒิสภา ฝ่ายการเมืองอาจแทรกแซงผ่านองค์กรดังกล่าวในการพิจารณาคัดเลือกกรรมการ ป.ป.ช. หรือแทรกแซงโดยฝ่ายบริหารในการแต่งตั้งโยกย้าย บุคคลของตนให้ไปดำรงตำแหน่งที่สามารถมาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้

                   ในส่วนของภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจถูกแทรกแซงโดยใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายศัตรูทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือถูกแทรกแซงทางตรงโดยการใช้อำนาจเงิน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวินิจฉัยสำนวน หรือใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในเชิงระบบอุปถัมภ์ หรือแทรกแซงโดยใช้กระแสกดดันทางสังคม หรือโดยการแทรกแซงสื่อมวลชน เพื่อใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือหรือใช้ทุนสร้างประชานิยมขึ้นมาแล้วใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ในการสร้างกระแสกดดันการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ และในการจัดสรรงบประมาณก็อาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารเพราะต้องมีการจัด   คำของบประมาณไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจไม่ได้รับงบประมาณตามที่ขอทำให้มีผลต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องต่าง ๆ ได้

                   ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่การแทรกแซงอาจเกิดจากญาติพี่น้องหรือพวกพ้องโดยผู้แทรกแซงจะใช้อำนาจกดดันทางความคิดและความรู้สึกในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกิดจากฝ่ายการเมืองหรือผู้เสียผลประโยชน์ โดยการให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือทวงบุญคุณอันเป็นการสร้างเงื่อนไขในการสร้างภาวะกดดัน หรือเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน เช่น การนำข้อมูลที่ได้จากการ   ไต่สวนไปเปิดเผยแก่บุคคลที่ตนต้องการให้ทราบ หรืออาจเกิดจากผู้บังคับบัญชาในการทำความเห็นประกอบสำนวนคดี

                   เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ การแทรกแซงโดยการใช้อำนาจเงินหรืออำนาจรัฐจะกระทำได้ไม่สู้ง่ายนัก การแทรกแซงที่เกิดขึ้นจึงอาจกระทำโดยทางอ้อม โดยการสร้างสภาวะกดดันการทำงาน เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดำรงความเป็นกลาง ปัญหาการแทรกแซงที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อความเป็นกลางในการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรและตัวกรรมการ ป.ป.ช.

       ดังนั้นผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อลดหรือขจัดการแทรกแซงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างเช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้ กล่าวคือในกระบวนการสรรหาลักษณะองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาควรกำหนดองค์ประกอบให้กระจายไปยังกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อมิให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีคะแนนมากจนทำให้เป็นผู้กำหนดผู้รับการสรรหาไว้ล่วงหน้า (Block Vote) และควรมีการตรากฎเกณฑ์และวิธีการในกระบวนการสรรหาให้ชัดเจน ในส่วนของภาคประชาชนที่มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ควรเร่งสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ โดยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของตนเอง เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแทรกแซง การดำเนินคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สื่อมวลชนควรต้องตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตนในการสอดส่องดูและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา ไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง

         สำหรับของการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรม(The Rule of Law) และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติกับผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ          

                   การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในองค์กรควรพิจารณาจากความรู้ความสามารถมิใช่พิจารณาจากสถานะของผู้สมัคร เช่น เป็นญาติ มิตร หรือเป็นคนที่รู้จักกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการสร้างระบบอุปถัมภ์ และเพื่อให้บุคลากรที่มีคุณภาพในการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง โดยมีการให้ค่าตอบแทนการทำงานในอัตราที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่และครอบครัวสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไป มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีโดยยึดมั่นอยู่ ในความถูกต้องชอบธรรม เพื่อมิให้ฝ่ายการเมืองใช้เป็นช่องทางในการแทรกแซงโดยใช้อำนาจเงินหรือผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการกระทำ หรือละเว้นกระทำการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่

         คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เห็นควรมีการป้องกันการแทรกแซงจากสถาบันหรือบุคคลอื่น จำเป็นต้องมีการรับรองความเป็นอิสระไว้ให้ชัดเจนทำนองเดียวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ เพื่อให้การแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หมดสิ้นไป หรือลดน้อยถอยลง หากยังไม่มีการรับรองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวความคิดในการจัดให้มีองค์กรอิสระเพื่อช่วยสถาบันศาลในการผดุงความยุติธรรมและการควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเที่ยงธรรมย่อมไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์อย่างแน่แท้

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2557 : เขียนบทความโดย สมลักษณ์  จัดกระบวนพล (อดีตที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช.))

  สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y71/ton2_3.pdf

Related