Contrast
banner_default_3.jpg

บทปริทัศน์หนังสือ เรื่อง The Puppet Masters : How the Corrupt Use Legal Structures to Hide Stolen Assets and What to Do About It

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 252

18/12/2563

บทปริทัศน์หนังสือ เรื่อง The Puppet Masters : How the Corrupt Use Legal Structures to

Hide Stolen Assets and What to Do About It[1]

         

                    รายงานวิจัยฉบับนี้มีชื่อว่า The Puppet Masters : How the Corrupt Use Legal Structures to Hide Stolen Assets and What to Do About It โดยมีนาย Emile Van der Does de Willebois ผู้เชี่ยวชาญสายการเงินของธนาคารโลกเป็นหัวหน้าโครงการ วัตถุประสงค์ของรายงานวิจัยฉบับนี้ คือ 1) การอธิบายพฤติกรรมการฟอกเงินของกลุ่มผู้ทุจริตคอร์รัปชันว่ามีพฤติกรรมอย่างไรโดยเฉพาะการกระทำที่ผ่าน “ตัวแทน” เพื่อฟอกเงิน ซึ่งในรายงานฉบับนี้เรียกตัวแทนดังกล่าวว่าเป็น Corporate Vehicles และ 2) การชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันและการฟอกเงินนั้นมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วย

         The Puppet Masters เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2011 ในการประชุมการต่อต้านคอร์รัปชันของ UN ที่เมืองมาราเกซ ประเทศโมรอคโค สาเหตุที่ Willebois ตั้งชื่องานวิจัยชิ้นนี้ว่าเป็น The Puppet Masters หรือ “ผู้เชิดหุ่น” ก็เพราะหุ่นเชิดทำได้เพียงแค่เต้นตามสายโดยมี “ผู้เชิดหุ่น” อยู่เบื้องหลัง       (The Puppet can only dance if someone is pulling the strings) เหตุผลดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้วว่า การฟอกเงินที่ได้มาจากการคอร์รัปชันนั้น คนฟอกเงินจำเป็นต้องใช้ “หุ่นเชิด” ในการปิดบัง    อำพรางทรัพย์สินที่ตนเองฉ้อฉลมา หุ่นเชิดในที่นี้ หมายถึง บริษัทที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นนอมินี (Nominee) หรือ บริษัทที่มีแต่เปลือก(Shell Company) ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวผ่าน” หรือตัวกลางในการพักเงินก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฟอกเงินสกปรกให้กลายเป็น “เงินสะอาด” ถูกต้องตามกฎหมายและไหลกลับคืนสู่กระเป๋าของ   ผู้ทุจริตอีกครั้ง

                   ความน่าสนใจของรายงานการวิจัยชิ้นนี้ คือ ความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงบทบาท ของภาคธุรกิจว่ามีส่วนสำคัญในการคอร์รัปชันและฟอกเงินอย่างไรเพราะนอกเหนือจากภาคธุรกิจจะเป็นผู้จ่ายสินบนแล้ว ภาคธุรกิจยังมีส่วนในการซ่อนและผ่องถ่ายทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายของนักการเมืองและข้าราชการประจำอีกด้วย

                   รายงานวิจัยเน้นลงไปในประเด็นที่ว่าบริษัทที่เป็นนอมินีทั้งหลายจะหาวิธีการปกปิดกระบวนการฉ้อฉลและฟอกเงินได้อย่างไร ซึ่งคณะผู้วิจัยวิเคราะห์จากกรณีศึกษา Grand Corruption ไม่น้อยกว่า 150 กรณีศึกษาจากทั่วโลก นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้สัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตรวจสอบการคอร์รัปชันและการฟอกเงิน เช่นผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานต่อต้านการฟอกเงิน(Anti-Money Laundering Agencies) ที่ตรวจพบพฤติกรรมการฟอกเงินจนโยงไปถึงความผิดปกติในการฉ้อฉลของนักการเมือง

         Willebois ยังกล่าวถึงบทบาทของ Trust and Company Service Providers หรือ TCSPsว่ามีส่วนช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้กับ Corporate Vehicles ในการกระทำผิดทางกฎหมาย       ได้อย่างไร โดยเฉพาะวิธีการ “ฟอกสินบน” ให้กลายเป็นทรัพย์สินที่ถูกกฎหมาย โดยยกตัวอย่างวิธีการฉ้อฉลในการจัดซื้อระบบการพิมพ์พาสปอร์ตของรัฐบาลเคนย่าเมื่อปี 2002 เพราะแทนที่รัฐบาลเคนย่าจะซื้อเครื่องพิมพ์พาสปอร์ตจากบริษัทของฝรั่งเศสในราคา 6 ล้านปอนด์ แต่กลับยอมจ่ายเงินแพงกว่า 5 เท่า ให้กับบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ไม่เคยมีผลงาน

                   ในรายงานวิจัยฉบับนี้ได้เสนอแนะไว้อย่างน่าสนใจเพราะมิใช่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวที่จะต้อง

แสดงความโปร่งใสในทุกกระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน หากแต่ภาคธุรกิจเอกชนก็จำเป็นต้องแสดง   ความบริสุทธิ์ใจอย่างเปิดเผยและโปร่งใสด้วยเช่นกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของสถาบันการเงิน (Financial Institution) ว่าต้องแสดงบทบาทต่อความโปร่งใสของภาคธุรกิจด้วย

                   Willebois ยังย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกผลักดันโดย FATF หรือ Financial Action Task Force ซึ่งเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงินโดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับการรู้จักลูกค้า/การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer/Customer Due Diligence) หรือที่รู้จักในชื่อ KYC/CDD

                   มาตรการ KYC/CDD จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าตลอดจน

ธุรกรรมที่มีความน่าสงสัยซึ่งจะนำไปสู่การติดตามตรวจสอบ (Track) ที่มาของเงินสกปรกซึ่งถูกนำไปฟอกต่อนั้นว่า มีที่มาจากไหน มีเส้นทางการเงินอย่างไร KYC/CDD เป็นมาตรการที่ใช้คู่กัน เพราะตัวสถาบันการเงินเองจำเป็นต้องรู้จักตัวตน ของลูกค้าโดยเก็บหลักฐานการแสดงตนของลูกค้า ที่อยู่อาศัย ซึ่งในที่นี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง ของลูกค้าด้วย ขณะเดียวกันอาจมีการขยายขอบเขตของข้อมูลเพิ่มมากขึ้นและลงลึกอย่างละเอียดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า

         ด้วยเหตุนี้จึงมีลูกค้าบางประเภทที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น ลูกค้าที่มีสถานะหรือความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภาคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง ครอบครัว คนสนิท ซึ่งหากลูกค้าเหล่านี้มีธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยแล้วอาจเชื่อมโยงไปสู่ความผิดในฐานะการฟอกเงินต่อไปในอนาคต ดังนั้นงานวิจัชิ้นนี้จึงพยายามเสนอแนะแนวทางการป้องกันการฟอกเงินที่มาจาก การคอร์รัปชัน เช่นข้อมูลของบริษัทหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ควรเข้าถึงได้ง่ายเพื่อสะดวกในการตรวจสอบของ TCSPs ข้อเสนอแนะดังกล่าวดูเหมือนเป็นข้อเสนอแนะที่หลายฝ่าย “รู้อยู่แล้ว” หรือพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะประเด็นการสร้างความโปร่งใสเพื่อสามารถตรวจสอบ Corporate Vehicles ได้

         จุดเด่นอีกประการของงานวิจัยชิ้นนี้คือการขยายกรอบแนวคิดออกไปว่าเมื่อหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันตรวจสอบและชี้มูลแล้วว่าเกิดการคอร์รัปชันขึ้นแล้ว หน่วยงานเหล่านี้จะทำอย่างไรต่อไปโดยเฉพาะกรณี Grand Corruptionจะต้องอายัดทรัพย์สินเดิมเท่าไรที่จะไม่กระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมคอร์รัปชัน จะมีวิธีติดตามทวงคืนทรัพย์สินที่ถูกโกงได้อย่างไร เพราะคนโกงได้ “ผ่องถ่าย” สินบนต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปของสินทรัพย์อื่นหมดแล้ว เช่น นำไปลงทุน ซื้อหุ้นและขายเพื่อเอากำไรและนำกำไรนั้นไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อ หรือแปลงสินบนเป็นทุนการศึกษาเพื่อส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือแม้แต่เข้าบ่อนการพนัน เป็นต้น

         ผู้เขียนเห็นว่าหนังสือเล่มนี้อาจเหมาะสำหรับกลุ่มผู้อ่านบางกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านการต่อต้าน การทุจริตและการฟอกเงิน ซึ่งจะได้ประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจพฤติกรรมการทุจริตและการฟอกเงินไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการทุจริตแบบ Grand Corruption นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะได้รับประโยชน์จากรายงานวิจัยฉบับนี้เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับ Grand Corruption จากทั่วโลก

         ท้ายที่สุด องค์ประกอบของการต่อต้านคอร์รัปชันต้องเริ่มต้นที่การป้องกันก่อน ขณะที่ การปราบปรามและการดำเนินคดีลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายจะเป็นขั้นตอนเอาผิดทางคดีอาญาของผู้ทุจริต อย่างไรก็ดีหากนำเรื่อง “การฟอกเงิน” เข้ามาร่วมประกอบเป็นส่วนหนึ่งด้วยแล้ว เราจะเห็นได้ว่าการติดตามนำทรัพย์สินคืนก็เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการต่อต้านคอร์รัปชันเช่นกัน แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2557 : เขียนบทความโดยนายสุทธิ สุนทรานุรักษ์)

  สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y71/ton3_1.pdf

Related