จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 282
100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
The Centenary Celebration of Dr. Puey Ungphakorn[1]
คอร์รัปชันหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง คือมะเร็งร้ายที่เกาะกินเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อขยายตัวมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง ประชาชนก็จะทนไม่ได้และลุกขึ้นมาต่อต้าน การประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ ปลายปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 ก็มีสาเหตุสำคัญมาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ของรัฐบาล โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายผู้คนทั่วไปทนไม่ได้ เมื่อมีผู้นำประท้วงรัฐบาลด้วยสาเหตุหนึ่ง ผู้คนที่เกลียด การฉ้อราษฎร์บังหลวงจึงเข้าร่วมประท้วงอย่างเต็มที่ และยืดเยื้อนานเป็นประวัติการณ์
การฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ผมจำความได้ผมได้ยินและได้อ่านข่าวคอร์รัปชันมาโดยตลอด คู่ขนานกันไปกับข่าวคราวเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็คือข่าวคราวของการต่อสู้กับคอร์รัปชันเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนทั่วไปอยู่ในศีลในธรรม ถือว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นการทำชั่ว ที่น่ารังเกียจ เมื่อผู้ที่ทำชั่วเป็นผู้ที่มีอำนาจ ก็มักจะมีผู้ที่กล้าหาญเพียงพอที่จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจเพื่อสกัดความชั่วร้ายนี้ไม่ให้ลุกลามต่อไป ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำของสังคมคนสำคัญที่ต่อสู้กับการฉ้อราษฎร์บังหลวง มาโดยตลอดในระหว่างรับราชการ อาจารย์ป๋วย แสดงตัวให้ปรากฏว่าต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กได้อ่านข่าวอาจารย์ป๋วย ต่อสู้กับขบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นประจำ ยังจำได้ถึงภาพในหนังสือพิมพ์ที่อาจารย์ป๋วย ลงไปตรวจจับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในโครงการวางท่อประปาในกรุงเทพฯ
กล่าวได้ว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นขวัญใจของประชาชนที่รังเกียจการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นขวัญใจของข้าราชการที่ต่อสู้กับผู้มีอำนาจซึ่งกระทำการที่ผิดทำนองคลองธรรม อาจารย์ป๋วย ถือว่าความซื่อสัตย์สุจริตคือคุณสมบัติที่ข้าราชการต้องมีนอกจากปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในเรื่องความซื่อสัตย์แล้ว อาจารย์ป๋วย ยังเป็นตัวอย่างของความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ทุกครั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้อาจารย์ป๋วย กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอาจารย์ป๋วย ปฏิเสธเสมอไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่ยอมยกเว้นการปรับธนาคารสหธนาคารตามคำขอร้องของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ หรือกรณีที่ให้ความเห็นขัดขวางความประสงค์ของพลตำรวจเอกเผ่าศรียานนท์ ในเรื่องการจ้างบริษัทต่างชาติที่ไม่น่าเชื่อถือพิมพ์ธนบัตรของไทย แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะมีผลให้อาจารย์ป๋วย ถูกปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ที่ทำอยู่ก็ตาม อาจารย์ป๋วย กล่าวไว้ว่า “คนเราถ้าไม่พะวงรักษาเก้าอี้ มักจะตัดสินใจได้ถูกต้อง”
การที่กล้าต่อสู้ผู้มีอำนาจเพื่อรักษาความถูกต้องพร้อมกับยึดถอื ความซือ่ สัตยส์ ุจริตอย่างจรงิ จังทำให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์กลายเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับข้าราชการในสมัยนั้น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์เขียนถึงอาจารย์ป๋วยไว้ว่าเป็น “บุคคลที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้ ข้าราชการตัวอย่างที่กล้าคัดค้านและกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง”
ในสมัยที่ ดร.ป๋วย รับราชการอยู่ การปฏิบัติตนของท่านช่วยเชิดชูคุณธรรมในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นที่ปรากฏ ทำให้ข้าราชการจำนวนมากมีกำลังใจที่จะยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักสำคัญในการทำงาน อันเป็นผลให้นักการเมืองหาประโยชน์จากงานของราชการได้ไม่ง่ายนัก
แต่ในระยะหลังเหตุการณ์เปลี่ยนไปมากคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่ยังยึดถืออยู่มิได้เป็นคุณสมบัติสำคัญในเรื่องความก้าวหน้าในการงาน ความซื่อสัตย์สุจริตลดความสำคัญลงในการปฏิบัติตนของข้าราชการ ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะปลุกคุณธรรมในข้อนี้ขึ้นมาให้เป็นสิ่งที่ข้าราชการต้องยึดถือ โครงการจิตวิทยาสังคมง่าย ๆ เช่น การกำหนดให้มีวันต่อต้านคอร์รัปชันและให้มีการแจกรางวัลข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ยอมรับของวงการข้าราชการเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของข้าราชการทั่วไป
ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ก็จะเป็นจุดเริ่มในการเชิดชูคุณธรรมด้านนี้ได้เป็นอย่างดีทุกปีในวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย ลูกศิษย์และลูกน้องเก่ามารวมกันเพื่อทำบุญให้ท่านและเพื่อระลึกถึงท่านอยู่แล้วถ้าเราจะสามารถผลักดันให้วันที่ 9 มีนาคมเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันของชาติได้ ก็จะเป็นวันที่เราจะสามารถใช้เป็นโอกาสแจกรางวัลให้ข้าราชการหรืออดีตข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานได้อย่างเหมาะสม รางวัลดังกล่าวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการชักจูงให้ข้าราชการหันมาให้ความสำคัญในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2557 : เขียนบทความโดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y72/ton1_2.pdf