Contrast
banner_default_3.jpg

การเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 232

18/12/2563

การเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์

ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย

Nexus between Economics and Law in Preventing Corruption[1]

         

                   ในการวางแผนป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ผู้บริหารมักจะคิดถึงการนำหลักกฎหมายและบรรดาระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เป็นตัวตั้งในการคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องพบว่าต่อให้ออกกฎหมายมากมายเพียงไร หรือบังคับใช้กฎหมายหนักขึ้นเพียงใด สังคมก็ยังเต็มไปด้วยปัญหาการทุจริต ด้วยเหตุนี้ การนำศาสตร์อื่นนอกจากวิชากฎหมายหรือนิติศาสตร์มาวิเคราะห์และวางหลักการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ จึงอาจเชื่อมโยงช่วยทำให้การต่อสู้กับการทุจริตได้ผลดียิ่งขึ้น   อันเป็นการเปิดมิติใหม่ในโลกของการต่อต้านทุจริต

ทุจริตคอร์รัปชันคืออะไร

                   หากไม่เข้าใจถึงความหมายของทุจริตคอร์รัปชันที่ชัดเจน เราอาจตกเป็นเหยื่อของคำอธิบายตามความคิดที่เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่รับได้ไม่น่ารังเกียจแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะเรามักจะตกอยู่ในกับดักของความไม่เท่าเทียมกัน (inequality trap) ในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นบ่อเกิดของ “ความสุจริตของสังคมที่ทุจริตคอร์รัปชัน” (honesty of a corrupt society) หรือเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หลงคิดว่าความทุจริตเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยิ่งกว่าความซื่อสัตย์สุจริต

วัฒนธรรมแห่งการทุจริตคอร์รัปชัน

                   สังคมมีส่วนพัฒนา “วัฒนธรรมแห่งการทุจริตคอร์รัปชัน” (cultures of corruption)เพราะพวกเขาทั้งหลายติดอยู่ในกับดักแห่งวงจรอุบาทว์ (vicious circle) ของความไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเชื่อถือศรัทธาต่ำอย่างยิ่ง และมีการทุจริตที่สูงอย่างยิ่ง

                   ภายใต้ “วัฒนธรรมแห่งการทุจริตคอร์รัปชัน” ผู้คนยอมจ่ายสินบนเพราะพวกเขาไม่มีทางออก และล้วนแล้วแต่ติดอยู่ในกับดักแห่งความไม่เท่าเทียมกันและยากที่จะมีความสุขในกับดักนั้น เช่น นักธุรกิจที่ยอมจ่ายเงินสินบน หรือ “ของขวัญ ” ให้กับนักการเมืองผู้ทรงอำนาจ มิใช่ว่าพวกเขามีความสุขกับการจ่ายสินบน แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องยอมรับทางเลือกที่มิอาจปฏิเสธได้

การทุจริตคอร์รัปชันมีปัญหาในทางกฎหมาย

  1. บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีมากมายแต่ไม่อาจบอกเราได้มากนักเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement of the law) โดยเฉพาะผู้มีฐานะดีและผู้มีอำนาจมักอยู่ห่างไกลจากการบังคับใช้กฎหมาย
  2. กฎหมายบางครั้งก็ก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ เช่น กรณีการขัดกัน

ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100 หากรัฐมนตรีทำสัญญากับบริษัทที่รัฐมนตรีเป็นเจ้าของกับหน่วยงานที่รัฐมนตรี กำกับดูแล รัฐมนตรีมีความผิดแต่ถ้าทำสัญญาดังกล่าวกับหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีผู้นั้นมิได้เป็นผู้กำกับดูแล รัฐมนตรีผู้นั้นก็ไม่ต้องรับผิด

 

 

การเชื่อมโยงระหว่างการทุจริตคอร์รัปชันกับความไม่เท่าเทียม

                   การเชื่อมโยงระหว่างการทุจริตคอร์รัปชันและความไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเกี่ยวกับรายได้หรือ

ในแง่ของกฎหมาย ล้วนแต่ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนในการโต้แย้งตามแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับคำว่าทุจริตคอร์รัปชัน     ซึ่งเป็นถ้อยคำที่สะท้อนยิ่งกว่าคำอธิบายในทางกฎหมาย แนวความคิดของการทุจริตคอร์รัปชันส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่อง “ความผิด” ในขณะที่ละเลยต่อความโปร่งใส องค์กรนำในด้านต่อต้านทุจริตระดับสากล คือองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติดูประหนึ่งว่าการทุจริตคอร์รัปชันถูกแอบซ่อนไว้ถ้าคุณมีความประพฤติสุจริตไม่ว่าในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนคุณก็ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนการกระทำของตน ตรงข้ามควรเปิดเผยให้เป็นที่รู้กันเพราะ “ความโปร่งใส” หมายถึง การส่องสว่างเพื่อให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดแจ้ง

จำแนกประเภทของทุจริตคอร์รัปชัน

                   Heidenheimer (อ้างใน Eric M. Uslaner,2008) จำแนกการทุจริตคอร์รัปชันออกเป็น 3 แบบได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชันขนาดเล็ก (pettycorruption) การทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำ (routine corruption) และการทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรง (aggravated corruption) สองประเภทแรกเป็นการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาสามัญในสังคมที่ขาดแคลน เมื่อคนธรรมดาต้องขึ้นตรงต่อผู้อุปถัมภ์           การคอร์รัปชันขนาดเล็ก เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนน้อย เช่น การจ่ายเงินให้ตำรวจ ให้รางวัลแพทย์   ที่แทรกคิวคนไข้ให้เร็วขึ้น การทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำ ได้แก่ การให้เพื่อได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยราชการ หรือให้ของขวัญกับผู้อุปถัมภ์ การทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรงเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ส่วนใหญ่ ให้แก่ผู้นำทางการเมืองเป็นเงินตอบแทนหรือสินบนที่ได้สัญญาจากรัฐบาลการทุจริตคอร์รัปชันขนาดเล็ก   ยังคงอยู่ในสังคม มิใช่เพราะประชาชนยอมรับหรือทนได้กับการทุจริตคอร์รัปชันเช่นนั้น พวกเขาไม่อาจหลบหนีออกไปได้เพราะไม่เห็นทางออก ระบบการเมืองและกฎหมายไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรม และอาจทำหน้าที่ได้น้อยเกินไป หากไม่ได้รับการกระตุ้นโดย “ของขวัญ” หรือ “รางวัล” พิเศษ ในที่สุดนักวิชาการบางคนมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันขนาดเล็กเป็น “สินบนที่สุจริต” (honest graft) หรือการทุจริตคอร์รัปชันสีขาว (white corruption) ซึ่งต่างจากการทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรง หรือการทุจริตคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (grand corruption) ที่ถือเป็น “สินบนที่ไม่สุจริต” (dishonest graft)เช่น การซื้อขายตำแหน่งราชการ หรือตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการทุจริตเชิงนโยบาย และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                ในภาพรวมของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในโลกและสังคมไทย มีความสลับซับซ้อน

และมีปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากที่ไม่อาจแยกออกพิจารณาแต่ละภาคส่วน โดยไม่บูรณาการความคิด นโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นองค์รวม ดังนั้น แนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน จึงมิอาจใช้เพียงบทกฎหมาย หรือบทลงโทษตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ต้องอาศัยศาสตร์อื่นโดยเฉพาะวิชาเศรษฐศาสตร์มาเป็นเครื่องมือร่วมกับวิชานิติศาสตร์ การใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับแนวทางออกของกฎหมาย นับว่าเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งในสังคมวิชาการของไทยที่ชอบศึกษาแบบแยกส่วน แต่หากประสบความสำเร็จก็ถือว่าเป็นคุณูปการต่อการศึกษา ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทปริญญาเอก และภายหลังปริญญาเอกต่อไปในภายหน้าอย่างมิต้องสงสัย

 

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (มกราคม 2557 : เขียนบทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.)

  สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y72/ton1_3.pdf

Related