จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 275
การเปรียบเทียบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของกรรมการรัฐวิสาหกิจ
และผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐ[1]
A Comparative study of Executive Compensation and Fringe
Benefits of State Enterprises Board and Government Officials
รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีการจ่ายผลตอบแทนคณะกรรมการที่แตกต่างและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐวิสาหกิจที่มีการจ่ายค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการบินไทย โดยคณะกรรมการสามารถกำหนดค่าตอบแทนของตนเองโดยผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน และขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น การกำหนดค่าตอบแทนแก่ตนเองสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม แม้ค่าตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์จะสูงกว่ารัฐวิสาหกิจทั่วไป โดยพิจารณาตามสถานะการเงินและเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชน แต่มักจะสะท้อนถึงการนำหลักเกณฑ์มาพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ เป็นการทำงานในเชิงนโยบายจึงจำกัดในการมีส่วนร่วมกับผลประกอบการขององค์การ ค่าตอบแทนสูงจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดความพยายามที่จะเป็นกรรมการมากยิ่งขึ้น แทนที่จะยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก จากผลการศึกษา พบว่า การดำเนินงานของกรมศุลกากรอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้งกันเชิงผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจากอธิบดีนั้นมีส่วนในการรับเงินสินบนและรางวัลด้วยขณะเป็นผู้มีอำนาจตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วย การจ่ายเงินสินบนและรางวัล ทั้งนี้ มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ควรมีหลักการ ดังนี้ 1) การตัดสินใจใดที่ผู้ตัดสินใจมีส่วนเกี่ยวข้องในการได้รับผลประโยชน์โดยตรงไม่สามารถกระทำได้ 2) ระบุให้บุคคลสามารถดำรงตำแหน่งการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 1 แห่ง และ 3) การบังคับใช้ระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจให้เข้มงวด
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (มกราคม 2557 : เขียนบทความโดย มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y72/ton2_2.pdf