จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 249
วัฒนธรรมความไว้วางใจกับจริยธรรมของข้าราชการไทย[1]
Trust Culture and Ethics of Thai Officials
บทความนี้เป็นการศึกษาว่าประชาชนไทยมีการรับรู้ถึงจริยธรรมความชื่อสัตย์ของข้าราชการหรือไม่ และมีความไว้วางใจหรือไม่และในระดับใด อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อความไว้วางใจหรือจริยธรรมความซื่อสัตย์ของข้าราชการไทย โดยใช้แบบสอบถามประชาชน 13 กลุ่มอาชีพ จำนวน 2,665 คน และการสัมภาษณ์ 390 คน ผลการศึกษาพบว่า 1) ความไว้วางใจของประชาชนและการรับรู้จริยธรรมความชื่อสัตย์ของข้าราชการประจำอยู่ในระดับปานกลาง 2) ตัวแปรต้น “จริยธรรมความซื่อสัตย์ของข้าราชการ” และ ตัวแปรตาม “ความไว้วางใจของประชาชน” มีความสัมพันธ์กันในระดับสูงในทิศทางเดียวและเป็นความสัมพันธ์ในทางบวก 3) พฤติกรรมความซื่อสัตย์ของข้าราชการที่อยู่ในการรับรู้ของประชาชนแตกต่างจากพฤติกรรมความซื่อสัตย์ที่อยู่ในความคาดหวังของประชาชน 4) การเลือกแนวทางที่เป็นไปได้ในการส่งเสริมวัฒนธรรมความไว้วางใจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้ การไม่คอร์รัปชัน การธำรงรักษาผลประโยชน์สาธารณะและความยุติธรรม ความโปร่งใสและความพร้อมรับผิด การเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรี ความแตกต่างของบุคคล และการยึดมั่นกับสิ่งที่ดีเลิศและการธำรงรักษาความไว้วางใจสาธารณะ และ 5) วัฒนธรรมความไว้วางใจที่จะช่วยกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลแสวงหาความซื่อสัตย์และความร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจในระดับของกลุ่ม จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้วในการส่งเสริมปัจจัยความไว้วางใจในระดับโครงสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชากรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (มกราคม 2557 : เขียนบทความโดย ชนิดา จิตตรุทธะ)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y72/ton2_3.pdf