Contrast
banner_default_3.jpg

การคอร์รัปชันกับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบรรษัทข้ามชาติ ที่ประกอบธุรกิจประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 498

20/12/2563

การคอร์รัปชันกับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบรรษัทข้ามชาติ

ที่ประกอบธุรกิจประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย[1]

Corruption and Its Impact on the Confidence of

Electronic Appliance Multinational Corporations Investing in Thailand

          จากการศึกษาถึงผลกระทบของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันของทั้ง 3 ดัชนีชี้วัด ได้แก่ การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index – GCI) ดัชนีธรรมาภิบาลโลก (Worldwide Governance Indicators - WGI) และดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index - CPI) ที่มีต่อการตัดสินใจในการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติที่ประกอบอุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลงทุนในประเทศไทย พบว่า บรรษัทข้ามชาติมีการรับรู้ภาพลักษณ์การคอร์รัปชันผ่านทางดัชนีที่มีการสำรวจและเผยแพร่โดยองค์กรระหว่างประเทศ และรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงเมื่อมีการไปติดต่อกับหน่วยงานรัฐในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การขออนุญาตก่อตั้งโรงงาน การยื่นขอมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) การควบคุมมลพิษและการกำจัดของเสียของโรงงาน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ต้องมีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้การดำเนินการมีความสะดวกและเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบรรษัทข้ามชาติจะรับรู้ถึงปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทย หากแต่ยังคงเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาถึงดัชนีทั้ง 3 ดัชนีข้างต้น จะพบว่าบรรษัทข้ามชาติรับรู้และให้ความเชื่อถือดัชนีดังกล่าว แต่มิได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับดัชนีเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง โดยดัชนีชี้วัดทั้ง 3 ดัชนี มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ บรรษัทข้ามชาติจะให้ความสำคัญกับกำไรที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจและโอกาสเติบโตทางธุรกิจมากที่สุด รวมถึงยังให้ความสำคัญในเรื่องของศักยภาพของประเทศไทยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านของการเป็นตลาดขายสินค้าในประเทศ การเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก การมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการลงทุนและการมีระบบขนส่งที่ดี อีกทั้งบรรษัทข้ามชาติยังได้มีทีมงานจากบริษัทแม่ที่มาสำรวจและศึกษาข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้ามาทำการลงทุนเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจและกำหนดทิศทาง การลงทุน ซึ่งบรรษัทข้ามชาติจะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจ โดยทีมงานที่มาทำการสำรวจเพื่อประกอบ การตัดสินใจการลงทุนมากกว่าข้อมูลที่รับรู้ผ่านดัชนีชี้วัดที่จัดทำโดยองค์กรระหว่างประเทศ

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความสำคัญของดัชนีชี้วัดทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าว พบว่า บรรษัทข้ามชาติจะให้ความสำคัญกับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index - GCI) ที่จัดทำโดย World Economic Forum มากที่สุด เนื่องจากมีการสำรวจปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการลงทุนอย่างรอบด้าน มิใช่เพียงแค่การสำรวจถึงการคอร์รัปชันที่เป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจลงทุนของบรรษัทข้ามชาติได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสในการเติบโตในการดำเนินธุรกิจมากกว่าปัจจัยด้านการคอร์รัปชัน

นอกจาก GCI แล้ว ดัชนีที่บรรษัทข้ามชาติส่วนใหญ่รวมถึงนักวิชาการให้ความสำคัญเป็นลำดับถัดไป คือ ดัชนีธรรมาภิบาลโลก (Worldwide Governance Indicators - WGI) ที่จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) เนื่องจากมีการสำรวจบริบทแวดล้อมที่ส่งผลต่อการลงทุน ซึ่งบริบทแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ในมิติเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ หากแต่มีการให้ความสำคัญน้อยกว่า GCI เนื่องจากมีการสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนน้อยกว่า

ดัชนีสุดท้ายที่บรรษัทข้ามชาติจะให้ความสำคัญในการประกอบเพื่อพิจารณาในการลงทุน คือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index - CPI) เนื่องจากมีการสำรวจปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนเพียงด้านเดียว คือ การคอร์รัปชัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแม้ว่าการคอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยเป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่บรรษัทข้ามชาติได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการลงทุนมากกว่าปัญหาการคอร์รัปชัน เนื่องจาก เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ คือ โอกาสในการเติบโตของการประกอบธุรกิจแม้ว่าจะต้องมีการเผชิญกับการคอร์รัปชันโดยการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์และกำไรที่ได้รับจากการลงทุนที่มีความคุ้มค่า บรรษัทข้ามชาติก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไป

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ประเด็นการคอร์รัปชันที่สะท้อนผ่านทางดัชนีต่าง ๆ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและบรรษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่มากเมื่อเทียบกับผลกำไรและโอกาสในการเติบโตของการลงทุนที่บรรษัทข้ามชาติได้รับซึ่งการที่บรรษัทข้ามชาติให้ความสำคัญกับ GCI มากที่สุดสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติจะพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยที่บรรษัทข้ามชาติให้ความสำคัญมากที่สุดในการลงทุน คือ โอกาสในการเติบโตของการประกอบธุรกิจ และนโยบายรัฐบาลที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านภาษี และในส่วนของปัญหาการคอร์รัปชันที่บรรษัทข้ามชาติต้องเผชิญจากการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ พบว่า การคอร์รัปชันเป็นเพียงปัจจัยรองที่บรรษัทข้ามชาติจะให้ความสำคัญ และหากบรรษัทข้ามชาติยังคงได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่าและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปแม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาการคอร์รัปชันก็ตาม

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (1 กรกฎาคม 2560 : เขียนบทความโดย ฉันท์ชนก  เจนณรงค์)

สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y102/ton1_5.pdf

Related