Contrast
banner_default_3.jpg

แนวทางและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบาย ของรัฐบาลไทยในยุคปัจจุบัน Policy Corruption in Current Thai Governments: Preventive and Suppressive Measures

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 505

20/12/2563

แนวทางและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบาย

ของรัฐบาลไทยในยุคปัจจุบัน[1]

Policy Corruption in Current Thai Governments:

Preventive and Suppressive Measures

          ปัจจุบันได้เกิดปรากฏการณ์ทุจริตแบบใหม่ที่เรียกว่า “การทุจริตเชิงนโยบาย” (Policy Corruption) อันเป็นรูปแบบการทุจริตใหม่ล่าสุดที่มีขนาดความรุนแรงและสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงมาก มีความสลับซับซ้อนในกระบวนการกระทำทุจริต ยากแก่การรู้เท่าทันของสาธารณชนและมักไม่สามารถสาวไปหาบุคคลที่เป็นตัวการต้นคิดมาลงโทษได้ นั่นคือ ตัวการที่แท้จริงยังลอยนวลในสังคม โครงการ “การศึกษาวิจัยแนวทางและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาลไทยในยุคปัจจุบัน” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอคำนิยามการทุจริตเชิงนโยบาย สำหรับใช้ในกรณีประเทศไทย วิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุการทุจริตเชิงนโยบายในรัฐบาลไทยยุคปัจจุบัน ประมวลสภาพปัญหาและบริบทการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย แสดงให้เห็นกระบวนการและขั้นตอนการทุจริตเชิงนโยบาย และเสนอแนะแนวทางและมาตรการการแก้ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย

สังเคราะห์ผลการศึกษา

1) คำนิยามของการทุจริตเชิงนโยบายสามารถสรุปได้ว่า “การทุจริตเชิงนโยบายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์หรือการเอื้อประโยชน์หรือการขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม อันเกิดจากการใช้อำนาจทางการบริหารของรัฐบาลหรือของรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย เสนอโครงการหรือดำเนินโครงการหรือกิจการต่าง ๆ อันเป็นผลให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้ประโยชน์จากการดำเนินการตามโครงการหรือกิจการนั้น ๆ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ”

2) เครื่องมือสำหรับใช้ติดตามตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบาย

3) กระบวนการและขั้นตอนที่เปิดโอกาสหรือมีความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย มี 6 ขั้นตอน ดังนี้

          3.1 ขั้นตอนการริเริ่มทางนโยบาย

          3.2 ขั้นตอนการพัฒนานโยบาย

          3.3 ขั้นตอนการตัดสินใจนโยบาย

          3.4 ขั้นตอนการดำเนินการตามนโยบาย

          3.5 ขั้นตอนการประเมินผลนโยบาย

          3.6 ขั้นตอนการทบทวนและปรับปรุงนโยบาย

4) แนวทางป้องกันและต่อต้านการทุจริตเชิงนโยบาย โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ

          4.1 ระยะก่อนเกิดปัญหา ให้เน้นการเฝ้าระวังกลุ่มนโยบายที่มีความเสี่ยง การพัฒนาช่องทาง   การเข้าถึงข้อมูลและการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคม

4.2 ระยะเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ควรเน้นที่การหยุดยั้งผู้กระทำผิด ควบคุมความเสียหายและลดผลกระทบจากการทุจริต

4.3 ระยะการปราบปราม ควรเน้นการจับกุมผู้กระทำผิด การสาวถึงผู้เป็นต้นตอ นำมาดำเนินคดีตามกฎหมายและการใช้มาตรการลงโทษโดยสังคมเข้ามาเสริม

4.4 ระยะการฟื้นฟูองค์กร ควรเน้นการมีมาตรการเพื่อฟื้นฟูหน่วยงานและองค์กรที่ได้รับผลกระทบ สรุปบทเรียนรู้และปรับปรุงวิถีการดำเนินงานเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอย

          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ ป.ป.ช. มี 7 ประการ ได้แก่

          1) สร้างเสริมเครือข่ายภาคประชาสังคมและพลังพลเมืองในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตเชิงนโยบาย

2) สร้างมาตรฐานความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เสนอให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสังคมสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้โดยง่าย

3) พัฒนาและนำมาตรการทางภาษีอากรมาใช้ และริเริ่มรูปแบบการปราบปรามใหม่ ๆ เพื่อกำราบคนโกง

4) ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคม เพื่อให้รู้เท่าทันการทุจริตเชิงนโยบายและการทุจริตรูปแบบต่าง ๆ

5) ศึกษาความเหมาะสมและสนับสนุนให้มีศาลคดีทุจริต

6) จัดให้มีกองทุนส่งเสริมพลังพลเมืองเพื่อสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาสังคมในการผนึกกำลังขับเคลื่อนการป้องกันและต่อสู้การทุจริตอย่างบูรณาการและครบวงจร

7) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเน้นการเสริมสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถในการบริหารจัดการขององค์กรทั้งระบบ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือ

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (1 กรกฎาคม 2560 : เขียนบทความโดย พลเดช  ปิ่นประทีปและคณะ)

สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y102/ton2_1.pdf

Related