Contrast
banner_default_3.jpg

ความเสี่ยงทางกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ของนักวิจัยและนักวิชาการภาครัฐของไทย

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 384

16/12/2563

ความเสี่ยงทางกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
ของนักวิจัยและนักวิชาการภาครัฐของไทย[1]

                   โดยสภาพทั่วไปของงานวิจัยเป็นงานที่สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการให้แก่สังคมและประเทศชาติและเป็นงานที่น่านับถือ แต่อีกด้านหนึ่ง นักวิจัยและนักวิชาการในภาครัฐของไทยต้องเผชิญความเสี่ยงทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการทำงานด้านวิจัยถึงขนาดต้องโทษจำคุก ซึ่งนักวิจัยในภาครัฐจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายหรือไม่ทราบว่ามีกฎหมายห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้ ในบทความชิ้นนี้ จึงเป็นความพยายามของผู้เขียน (เมธี  ครองแก้ว) ที่จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่นักวิจัยในภาครัฐของไทยจะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจากการทำงานตามหน้าที่

                   ผู้เขียนนำเสนอข้อมูลว่า ในปัจจุบันนักวิจัยในภาครัฐของไทยประกอบด้วยบุคคลากร 3 ประเภท คือ 1) ข้าราชการ 2) พนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานราชการ และ 3) ลูกจ้างของรัฐ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคลากรประเภทใดก็ตาม สถานภาพทางกฎหมายจะเป็นได้ 2 ลักษณะ คือ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และ/หรือ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่น การที่นักวิจัยหรือนักวิชาการมีสถานภาพทางกฎหมายชัดเจน เนื่องจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามตำแหน่งทางวิจัยหรือวิชาการของตน ซึ่งหากไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหรือปฏิบัติโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหาย ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรียกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

                   ในทางปฏิบัติมักมีข้อถกเถียงว่า บุคลากรเหล่านั้นเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เพราะหากไม่ใช่ ก็ไม่อาจใช้กฎหมายอาญาในการบังคับบุคลากรดังกล่าวได้ ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีชี้มูลความผิดของผู้ที่เข้าข่ายว่าเป็นเจ้าพนักงาน ก็มีปัญหาการตีความว่าจะสามารถใช้กฎหมายอาญาพิจารณาความผิดกับบุคคลเหล่านั้นได้หรือไม่ ซึ่งในกรอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเน้นไปที่บุคคลที่เรียกว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ถูกนิยามไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดนิยามไว้โดยละเอียด กล่าวโดยสรุปก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง หากกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งระดับใด ดังนั้น นักวิจัยในภาครัฐจะต้องรู้ว่าความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และโทษที่จะได้รับคืออะไร รวมทั้งมีวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไร

                   ผู้เขียนกล่าวว่า ความเสี่ยงของนักวิจัยที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่นั้น จะมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามกฎหมาย ดังนี้

 

                   1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

                   กฎหมายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้เป็นหลักในการชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ประมวลกฎหมายอาญา  ตั้งมาตรา 147 ถึง มาตรา 166 แต่มาตราที่ใช้มากที่สุดในการชี้มูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรา 157 ซึ่งในมาตรา 157 แบ่งความผิดไว้ สองฐาน ฐานแรก คือ การปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ส่วนฐานที่สอง คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดย การทุจริต หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

                    2) ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การใช้ประมวลกฎหมายอาญาบังคับ กับเจ้าพนักงานที่เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้นไม่มีปัญหาแต่เมื่อสถานภาพขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐเปลี่ยนไป กล่าวคือ ไม่ได้เป็น กระทรวง ทบวง กรม ตามการบริหารงานของรัฐตามปกติ แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นรัฐวิสาหกิจ องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ทำให้การใช้ประมวลกฎหมายอาญาอาจถูกท้วงติงได้ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนรัชต์ จึงได้ออกกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่นอกหน่วยงานของรัฐตามปกติ

                   3) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

                   กฎหมายฉบับนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า “พระราชบัญญัติฮั้ว” เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ห้ามมิให้มีการฮั้วหรือสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อกำหนดราคาการประมูลและกีดกันมิให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยกฎหมายฉบับนี้ ระบุผู้กระทำความผิดทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนด้วย ซึ่งในมาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แกผู้ใดผู้หนึ่งมีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม

                   4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

                   ในหมวด 9 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 100 และมาตรา 103 โดยในมาตรา 100 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกิจการที่ตนเองเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีหุ้นส่วนในบริษัทที่มีสัญญากับรัฐ เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐในกิจการที่เป็นการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือไปมีส่วนได้เสียในฐานะกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และในมาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่เป็นการับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาซึ่งจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดไว้ในขณะนี้ คือ ไม่เกิน 3,000 บาท

                   5) กฎหมายอื่น

                   กรณีนักวิจัยเป็นข้าราชการก็จะต้องตกอยู่ใต้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีที่นักวิจัยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จะอยู่ใต้บังคับของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหากนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ยังถือว่าเป็นการดำเนินการในหน่วยงานทางปกครองอยู่ดี  

                   ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีของนักวิจัย นักวิชาการ ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือองค์กรทางวิชาการอื่นของรัฐอื่น ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาหรือผ่านการวินิจฉัยของศาลแล้ว เพื่อให้เห็นภาพ ดังนี้

                   กรณีลอกเลียนผลงานวิทยานิพนธ์ เป็นกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรทางวิชาการของรัฐแห่งหนึ่ง ถูกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงานการวิจัยของตนไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกโดยไม่ชอบ ซึ่งกรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีอาญาต่อไป

                   กรณีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกลั่นแกล้งนักวิจัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกนักวิจัยในสถาบันร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าถูกกลั่นแกล้งจากผู้อำนวยการไม่ให้มีโอกาสทำวิจัยและสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ คณะอนุกรรมการทำการไต่สวนและมีมติชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เห็นชอบด้วย

                   กรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกไล่ออกเพราะกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542  ในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีความพยายามที่จะบริหารประเทศแบบบริษัทเอกชน คือ การตัดสินใจรวดเร็ว และมุ่งผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก นโยบายหนึ่งคือ การสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบสินค้าส่งออกทางการเกษตร ซึ่งเป็นการลงทุนโดยรัฐทั้งหมด กรณีดังกล่าว อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการร่างข้อกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อห้องปฏิบัติการดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าร่างข้อกำหนดจงใจทำข้อกำหนดผิดไปจากระเบียบ หรือล็อกสเปก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาแก่อาจารย์ดังกล่าว

                   จากข้อกฎหมายและกรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ผู้เขียนมีจุดประสงค์เพื่อที่เตือนให้นักวิจัยและนักวิชาการในภาครัฐ คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ และระมัดระวังการใช้อำนาจไม่ให้เกินเลยและคอยตรวจสอบความถูกต้องของการทำงานตามกรอบของกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบ ก็จะหลุดพ้นความเสี่ยงที่จะเป็นผู้กระทำความผิดจากการทำงานโดยไม่ตั้งใจ

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 ( กรกฎาคม 2558 : เขียนบทความโดย เมธี ครองแก้ว)

  สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y82/ton1_1.pdf

Related