Contrast
banner_default_3.jpg

มิติทางจริยธรรมและการเมืองของการคอร์รัปชัน

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 133

16/12/2563

มิติทางจริยธรรมและการเมืองของการคอร์รัปชัน[1]
Ethical and Political Dimensions of Corruption

                   ในบทความชิ้นนี้ โสรัจจ์ โหศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “รากฐานทางจริยธรรมและปรัชญาการเมืองของการคอร์รัปชัน: แนวทางในการเสริมสร้างจิตสำนึก ค่านิยมและการมีส่วนร่วม” และบทความชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าว บทความนี้ได้อภิปรายถึงการคอร์รัปชันมิติทางจริยธรรมและมิติทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสาวไปถึงต้นตอและคำอธิบายระดับรากฐานของการคอร์รัปชันโดยเฉพาะในมิติของสังคมไทย

                   คอร์รัปชันในมิติทางจริยธรรม หมายถึงว่า การคอร์รัปชันที่มีความสัมพันธ์กับระบบศีลธรรมหรือระบบคุณค่าที่สังคมยึดถืออยู่ หากมีการกระทำแบบหนึ่งที่สังคมโลกโดยทั่วไปถือว่าเป็นการคอร์รัปชัน แต่ระบบศีลธรรมหรือคุณค่าในสังคมยังถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ปัญหาก็คือ เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวอย่างไร ตัวอย่างเชิงประจักษ์ของประเด็นการคอร์รัปชันในมิติทางจริยธรรม ก็คือ ข้าราชการผู้หนึ่งใช้อำนาจที่มีอยู่แสวงหาประโยชน์ให้แก่พวกพ้องของตนเอง แต่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เหตุการณ์ลักษณะนี้ เป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมของพวกพ้อง ดังนั้น “การทำดี” กับพวกพ้องของตนกับ “การทำดี” กับ “รัฐ” ย่อมมีน้ำหนักไม่เท่ากัน เหตุเพราะพวกพ้องของตนเป็นสิ่งที่จับต้องได้หากแต่รัฐนั้นเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินหรือไม่รู้จักของคนไทยแต่ดั้งเดิม จึงทำให้การคอร์รัปชันในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่สามารถแก้ไขได้ จากตัวอย่างที่กล่าวมา เหตุเพราะทรรศนะที่มีต่อ “ความดี” ของคนไทย เมื่อทรรศนะต่อ “ความดี” เป็นเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การที่ข้าราชการผู้หนึ่งใช้อำนาจที่มีอยู่แสวงหาประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตน จึงเป็นความดีชุดหนึ่ง ซึ่งขัดกับ “ความดี” ที่ข้าราชการผู้นั้นจะต้องมีต่อรัฐ คือการไม่แสวงหาประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนและรักษาประโยชน์ของรัฐ ซึ่งทรรศนะลักษณะนี้ สอดคล้องกับค่านิยมของคนไทย ที่มองเรื่องถูกผิดเป็นการต่อสู้กันเชิงอำนาจ ไม่มีอะไรที่ถูกจริงๆ หรือผิดจริงๆ

                   คอร์รัปชันในมิติทางการเมือง เกี่ยวกับเรื่องอำนาจโดยตรง เพราะการเมืองคือเรื่องของอำนาจ และการจะคอร์รัปชันได้ จะต้องมีอำนาจจึงจะสามารถคอร์รัปชันได้ สมมติฐานประการหนึ่งของงานวิจัยก็คือ การปกครองตามหลักของกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรม (rule of law) เป็นคู่ตรงข้ามกับการ   คอร์รัปชัน กล่าวคือ หากมีการปกครองตามกฎหมายอย่างแท้จริงก็จะเป็นกลไกในการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งสมมติฐานดังกล่าวเป็นอุดมคติ ที่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีมาตรการเฉพาะที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น โจทย์ของงานวิจัยนี้ จึงเป็นการพยายามออกแบบมาตรการสร้างการปกครองตามกฎหมายที่เกิดได้จริงในสังคมไทยและวิธีการที่กฎหมายจะปกครองผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                   ในบทความนี้ ได้กล่าวถึงรัฐมากเป็นพิเศษ ซึ่งผู้เขียนก็ได้อธิบายว่า ในส่วนของงานวิจัยได้ให้คำจำกัดความของคำว่ารัฐ ว่าหมายถึง หน่วยปกครองในระดับสูงสุดที่ใช้อำนาจอธิปไตย มีเขตแดนที่เป็นที่ยอมรับ รับรองของรัฐอื่น ซึ่งความหมายของรัฐข้างต้น มักเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินจากคนไทย ซึ่งมองว่ารัฐคือกลุ่มคนที่ห่างไกลจากตนเองที่เข้ามามีอำนาจเหนือกลุ่มของตนเองและที่ของตนเอง จะเห็นได้ว่า ทรรศนะต่อประเด็นคอร์รัปชันที่แตกต่างกันทั้งในมิติจริยธรรมและมิติทางการเมือง ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชันมีความซับซ้อนมากยิ่งขั้น ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าว จึงจะต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติค่านิยม และความเชื่อ แล้วจึงตามด้วยมาตรการทางกฎหมาย จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ หากให้มาตรการทางกฎหมายเป็นตัวนำ ก็จะเกิดการหลบเลี่ยงกฎหมายอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

                  

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 ( กรกฎาคม 2558 : เขียนบทความโดย โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์)

  สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y82/ton1_3.pdf

Related