จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 165
มหาวิทยาลัยกับธรรมาภิบาล[1]
Universities and Good Governance
ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจและหน้าที่สูงสุดในการดูแลจัดการมหาวิทยาลัย โครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ในกฎหมายตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย องค์ประกอบของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีนายกสภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งมาจากการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านวิชาการหรือด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทางมหาวิทยาลัย การดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัยจะอาศัยจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นหลัก สภามหาวิทยาลัยที่ดีมี ธรรมาภิบาลจำเป็นต้องมีการกำหนดการประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นการล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ กรรมการจะต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น อุทิศเวลาให้กับการประชุมเต็มที่ ศึกษาวาระก่อนการประชุมล่วงหน้า และในการประชุมมีหน้าที่ในการเสนอแนะ ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย และต้องร่วมตัดสินใจในมติต่าง ๆ ทั้งนี้ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยกรรมการจะต้องมีจริยธรรมยึดหลักธรรมภิบาล เมื่อตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับวาระการประชุมใดก็ต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และเมื่อถึงวาระนั้นก็ต้องพิจารณาตนเองว่าสมควรอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ หากเห็นว่าการอยู่ร่วมพิจารณาจะก่อให้เกิดอคติในดุลยพินิจของที่ประชุมก็สมควรออกจากที่ประชุมเป็นการชั่วคราว
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2558 : เขียนบทความโดย กำจร ตติยกวี)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/files/content/junal81.pdf