Contrast
banner_default_3.jpg

การทุจริตในภาคธุรกิจไทย

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 377

17/12/2563

การทุจริตในภาคธุรกิจไทย[1]

การคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ หมายถึง การที่กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งตนได้มาจากผู้ถือหุ้นหรือตัวแทนผู้ถือหุ้น ในการบริหารงานและดำเนินนโยบายของบริษัทเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อบุคคลอื่น ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงธุรกิจ โดยส่วนมากจะเป็นผลประโยชน์ทางการเงิน การทุจริตคอร์รัปชันในวงการธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของการปล่อยเงินกู้อย่างหละหลวมแก่เครือญาติหรือคนรู้จัก การถ่ายโอนกำไร การหลบเลี่ยงภาษี ตลอดจนการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทในการค้ากำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นการยักยอกผลประโยชน์ออกไปจากบริษัท ซึ่งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทพึงจะได้รับ รวมไปถึงผู้ถือหุ้นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เจ้าหนี้ พนักงานหรือลูกจ้าง ภาครัฐ ตลอดจนลูกค้าของบริษัท นอกจากการคอร์รัปชันทางธุรกิจข้างต้นแล้ว การเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยในรูปแบบอื่น ๆ ยังคงมีความหลากหลาย เช่น การอนุมัติให้ผลตอบแทนแก่กรรมการที่สูงเกินควร โดยไม่สอดคล้องกับผลงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการจ่ายค่าเบี้ยประชุมที่สูง การแจกหุ้นในราคาพาร์ หรือใบจองหุ้น (warrant) การนำผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจไปลงทุนในธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือกรรมการมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือการที่กรรมการหรือผู้บริหารค้ากำไรกับบริษัท โดยการ “ซื้อถูกขายแพง” ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายที่ดิน ทรัพย์สินอื่น ๆ หรือเป็นการให้บริการอื่นใดแก่บริษัท พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการคอร์รัปชันทั้งสิ้น

จากการศึกษากรณีการทุจริตที่มีการดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเลือกกรณีการทุจริตที่มีความซับซ้อนของพฤติกรรม มีการกระทำความผิดในหลากหลายลักษณะและมีบุคคล หน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และได้รับการกล่าวโทษในช่วงปี 2544 - 2551 สามารถสรุปลักษณะและรูปแบบของการกระทำความผิดของภาคเอกชนไทย ดังที่แสดงในรูปที่ 1 ซึ่งการทุจริตที่เกิดขึ้นในทุกกรณีเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บริหาร เพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินการหลัก 2 ประการ คือ (1) การยักยอกทรัพย์ของบริษัทโดยตรง และ (2) การสร้างราคาหลักทรัพย์ เพื่อหวังผลกำไรจากการขายหุ้นหรือหวังผลทางการเมืองบางประการ

รูปที่ 1 รูปแบบของการทุจริตที่เกิดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แรงจูงใจที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การทุจริตจะเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจ แต่จะถูกคานไว้ด้วยการตรวจสอบ ในส่วนของ “การใช้อำนาจ” กรรมการและผู้บริหารบริษัทมหาชนถือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น ให้เป็นตัวแทนในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ ก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น ดังนั้น กรรมการและผู้บริหารจึงเป็นผู้มีอำนาจและมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความชอบธรรม แต่หากการใช้อำนาจหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารเป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง มิใช่ผลประโยชน์แก่บริษัทและผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและพวกพ้องหรือเกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นในบริษัทมหาชน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้ถือหุ้นในวงกว้าง

ในด้าน “การตรวจสอบ” หากการใช้อำนาจโดยมิชอบของกรรมการและผู้บริหารถูกจำกัดด้วย          การตรวจสอบของฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในที่นี้คือคณะกรรมการ ก.ล.ต. การทุจริตที่เกิดขึ้นก็จะมีความรุนแรงน้อยลง เมื่อมีการตรวจสอบถึงพฤติกรรมที่อาจเป็นการละเมิดต่อกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับทางกฎหมาย ถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็จะนำไปสู่การดำเนินการกับผู้กระทำความผิด

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิด ควรประชาสัมพันธ์ถึงการดำเนินการภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดบทคุ้มครองแก่ผู้ให้เบาะแส (whistle blower) เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะพนักงานและบุคคลที่รับจ้างทำงานให้กับภาคธุรกิจเอกชน พร้อมกันนี้ ต้องสร้างความมั่นใจแก่บุคคลผู้แจ้งเบาะแส ถึงกลไกและระบบการให้ความคุ้มครอง ที่มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้แจ้งเบาะแสเป็นสำคัญ

               ความร่วมมือระหว่างประเทศ ควรดำเนินการให้มีการแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับการนำตัวพยานบุคคลหรือเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ ซึ่งได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือได้มาโดยหน่วยงานของภาครัฐ มาใช้อ้างถึงในกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบ และการดำเนินคดีกับการกระทำความผิดในลักษณะข้ามชาติ

               การชดเชยผู้ที่ได้รับความเสียหาย ควรผลักดันให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) หรือการฟ้องร้องของผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวหรือหลายคน เพื่อประโยชน์ของบุคคลจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย อันเกิดจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน โดยที่การฟ้องร้องแบบกลุ่มในกรณีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมในตลาดทุนจัดเป็นเครื่องมือหรือช่องทางที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อตนเองและเพื่อผู้ลงทุนรายอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าระบบการฟ้องร้องแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

               การดำเนินคดีทางอาญา ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการดำเนินคดีทางแพ่ง (civil sanction) ควบคู่กับการดำเนินคดีทางอาญา จะทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ประสบผลสำเร็จมากขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับ ก.ล.ต. ในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการสืบสวนของหน่วยงานของรัฐและการฟ้องคดีของอัยการ

               การสร้างความตื่นตัวในการตรวจสอบการทุจริตโดยผู้ถือหุ้น ควรปรับลดสัดส่วนหุ้นส่วนขั้นต่ำในการฟ้องร้องกรรมการให้ต่ำลงกว่าร้อยละ 5 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีโอกาสในการตรวจสอบบริษัทมากขึ้น

 

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2555 : เขียนบทความโดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ)

   สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y5/ton2_2.pdf

 

Related