Contrast
banner_default_3.jpg

ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 396

17/12/2563

ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย[1]

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นส่วนที่มีความสำคัญสูงในการวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เพราะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ. 2551 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากที่สุด คือ การจัดทำประกาศประกวดหรือสอบราคา และเอกสารไม่เป็นไปตามแบบตัวอย่างที่กำหนด โดยกำหนดข้อความหรือเงื่อนไขที่มีลักษณะเป็นการกีดกัน ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย โดยโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นช่องทางสำคัญในการแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกิน เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในประเทศไทยมีมูลค่าสูงมาก รัฐซึ่งเป็นผู้ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้เป็นเจ้าของเงินที่แท้จริง แต่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงเกิดปัญหาของการที่ตัวแทนไม่ได้รักษาผลประโยชน์สูงสุดของเจ้าของเงิน (agency problem) ซึ่งทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินโดยผู้ประกอบการที่เสนอราคา และเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยจำกัดไม่ให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาด้วยวิธีการต่าง ๆ

การแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนต้นๆ ของกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะ (specification) ของสินค้า หรือบริการ หรือคุณสมบัติ (qualification) ของผู้เสนอราคา ที่มีลักษณะกีดกันการแข่งขัน ซึ่งทำให้ผู้เสนอราคาซึ่งเหลืออยู่น้อยรายสามารถสมคบกันในการแบ่งตลาด หรือเสนอราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งทำให้ได้รับผลตอบแทนส่วนเกิน โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากกฎระเบียบตลอดจนวิธีปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐที่เปิดช่องให้มีการแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินได้โดยง่าย โดยเฉพาะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ (ระเบียบพัสดุฯ) พ.ศ. 2535 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (ระเบียบ e-auction) ซึ่งการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐมิติ เพื่อวิเคราะห์ผลการเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อการลดต้นทุนของหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง และทำการประมาณการโดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล “e-auction” ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พบว่า การเพิ่มความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างทำให้มีจำนวนผู้เข้าทำการประมูลมากขึ้น และการแข่งขันที่เข้มข้นทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ จึงควร

  1. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ e-auction โดย 1) เพิ่มระยะเวลาในการรับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างเอกสารการประกวดราคาทางเว็บไซต์ของหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างและกรมบัญชีกลางให้นานขึ้น และ 2) เพิ่มเวลาในการเผยแพร่เอกสารประกาศเชิญชวน เอกสารการประกวดราคา และเอกสารเบื้องต้นอื่น ๆ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างและกรมบัญชีกลางให้นานขึ้น เพื่อป้องกันการปิดกั้นการเสนอราคาของผู้ประกอบการที่ไม่ทราบข้อมูลวงใน
  2. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบพัสดุฯ เรื่องการกำหนดเงื่อนไขทางเทคนิค โดยกำหนดให้ระบุเงื่อนไข
    ทางเทคนิคในเชิงประสิทธิภาพมากกว่าในเชิงการออกแบบหรือการบรรยายคุณลักษณะ ควรห้ามอ้างอิงมาตรฐานที่มีผลกีดดันในการแข่งขัน และห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐเสาะหาหรือยอมรับคำแนะนำในการกำหนดเงื่อนไขทางด้านเทคนิคจากบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดซื้อจัดจ้าง ยกเว้นการให้ข้อคิดเห็นที่เปิดเผย
    ต่อสาธารณะอย่างเสมอภาคในวงกว้าง
  3. กำหนดให้การตัดสินคุณสมบัติของซัพพลายเออร์ และการตัดสินคัดเลือกผู้ชนะการประกวดราคาต้องใช้หลักเกณฑ์ที่ประกาศไว้ในเอกสารประกวดราคาแล้วเท่านั้น และห้ามเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์
    ในภายหลังจากที่มีการยื่นคุณสมบัติหรือยื่นซองประกวดราคาไปแล้ว
  4. แก้ไขระเบียบพัสดุฯ และจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และการอุทธรณ์ด้านการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน โดยควรมีเนื้อหาอย่างน้อยดังต่อไปนี้ หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนสถานที่ติดต่อ ขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการ คุณสมบัติและการสรรหาคณะกรรมการตัดสินเรื่องร้องเรียน การชดใช้ความเสียหาย มาตรการป้องกันการร้องเรียนเท็จ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรกำหนดให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นไปด้วยความโปร่งใสโดยเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้
  5. กำหนดให้มีกลไกและกระบวนการสอบสวนที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียน เช่น การตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน และกำหนดแนวทางปฏิบัติในการร้องเรียนให้ชัดเจน รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนแก่สาธารณชน
  6. ปรับปรุงกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับการคำนวณมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น หลักเกณฑ์ในการแบ่งซื้อหรือจ้าง ควรพิจารณาจากประเภทของพัสดุที่ต้องการจัดหาว่าเป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ ความต้องการของผู้ใช้ว่ามีความต้องการใช้พร้อมกันหรือไม่ เป็นต้น
  7. แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยมุ่งสร้างแรงจูงใจให้ผู้เสนอราคาที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ในกรณีที่มีการกระทำที่ขัดกับกฎหมาย
  8. กำหนดให้มีหน่วยงานภายใต้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เพื่อติดตามการเปิดเผยข้อมูล และ
    การปฏิบัติตามระเบียบของหน่วยงานรัฐในด้านต่าง ๆ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ตามที่กำหนดในระเบียบ E-auction ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างและกรมบัญชีกลาง

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2555 : เขียนบทความโดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ เทียนสว่าง ธรรมวณิช)

   สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y5/ton2_1.pdf

Related